นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เป็นประธานการประชุมสามัญประจำปี 2566 ภายใต้แนวคิด เสริมสร้างพลังอุตสาหกรรมไทย สู่ประเทศไทยที่แข็งแกร่ง เพื่อให้สมาชิก ส.อ.ท. กว่า 15,000 รายทั่วประเทศ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และข้อเสนอแนะผ่านการจัดทำ FTI Poll ในหัวข้อ สิ่งที่อยากให้รัฐบาลใหม่ดำเนินการใน 90 วันแรก
เพราะเมื่อโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องรับมือและปรับตัว โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินต่อไปได้ ให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก ด้วยการดำเนินงานปี 2565-2567 ภายใต้ “ONE FTI” (ONE Vision, ONE Team, ONE Goal) โดยมุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมเดิม (First Industries) ที่ประกอบด้วย 45 กลุ่มอุตสาหกรรม (11 คลัสเตอร์) 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด (5 ภาค/คลัสเตอร์จังหวัด) และอุตสาหกรรมใหม่หรืออุตสาหกรรมแห่งอนาคต (Next-GEN Industries) ที่ประกอบด้วย 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curves) ไปพร้อมกับการพัฒนาอุตสาหกรรมด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งเป็นเศรษฐกิจทฤษฎีใหม่ที่ผสมผสานการพัฒนา 3 ด้านหลัก
คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศในด้านสังคม เศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ในภาคอุตสาหกรรม และสร้างความร่วมมือไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมและสภาอุตสาหกรรมจังหวัด เพื่อนำไปสู่เป้าหมายเดียวกันในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมไทย เพื่อประเทศไทยที่เข้มแข็งกว่าเดิม ซึ่งถือเป็นวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานของ ส.อ.ท.
“ส.อ.ท.ตั้งใจจัดกิจกรรมในรูปแบบนี้ เพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นในการมีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกที่นอกจากจะช่วยโลกและประเทศให้รอดพ้นจากผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว ยังช่วยเหลือผู้ประกอบการในประเทศ โดยเฉพาะภาคการส่งออกที่ต้องรับมือกับแรงกดดันจากทั้งลูกค้า คู่ค้าและผู้ลงทุนให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ ซึ่งวันนี้เราได้ทำการประเมินปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยพิจารณาจากข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การเดินทางของผู้เข้าประชุม การใช้ไฟฟ้า พลังงานในการปรุงอาหาร และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจากการคำนวณเบื้องต้นจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับ 122 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยหลังการจัดงานจะมีการคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจริงและทำการชดเชยทั้งหมดอีกครั้ง ทั้งนี้ อบก. รับรองแล้วว่าการประชุมวันนี้ เป็นกลางทางคาร์บอนหรือเรียกว่าเป็น Carbon Neutral Event ”
สำหรับกิจกรรมไฮไลท์คือ การเสวนาเรื่องวิสัยทัศน์การขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทย โดยมีตัวแทนพรรคการเมืองต่าง ๆ เข้าร่วม เพื่อให้ภาคเอกชนทราบแนวนโยบายและเข้าไปมีส่วนร่วมในรัฐบาลใหม่ได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มการอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ การใช้งบประมาณให้มีประสิทธิภาพ และลดการปราบปรามคอรัปชั่นในประเทศ
โดยนายสุพันธุ์ มงคลสุรี รองหัวหน้าพรรคและประธานคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ พรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า พรรคมุ่งแก้กฎหมาย 1,400 ฉบับ ที่เป็นอุปสรรคต่อการทำมาหากิน ด้วย พ.ร.บ. 1 ฉบับ ,การเข้าถึงแหล่งทุน ด้วยการเพิ่มวงเงิน บสย. - ตั้งกองทุน SMEs และสร้างแต้มต่ออุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า พรรคมุ่งเปลี่ยนเป้าหมายภาคอุตสาหกรรมไทย ให้กลายเป็นอุตสาหกรรม High tech ,High touch โดยนำเทคโนโลยีและดีไซน์ใหม่ ๆ มาใช้ในกระบวนการส่งออก พร้อมยกระดับปัจจัยการผลิต ทำให้สินค้ามีคุณค่ามากกว่าราคาที่ถูก
นายเกียรติ สิทธิ์อมร คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคมุ่งพัฒนาตลาดแรงงาน ให้ตอบโจทย์อุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมทั้งแก้ไขกฎระเบียบที่ล้าหลัง โดยไม่ขัดกับกติกาโลก ขณะที่พรรคอื่น ๆ ประกอบด้วย พรรคชาติไทยพัฒนา ,พรรคชาติพัฒนากล้า ,พรรคพลังประชารัฐ ,พรรคเพื่อไทย ,พรรคภูมิใจไทย และพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่มีมุมมองใกล้เคียงกัน โดยให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาต้นทุนพลังงานที่ยังอยู่ในระดับสูง มุ่งสู่พลังงานสะอาด การลดก๊าซเรือนกระจก การปรับเปลี่ยน KPI SMEs การแก้ไขมาตรการกีดกันทางการค้า และการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ
ส่วนการแก้ปัญหาคอรัปชั่น ทุกพรรคการเมืองต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าต้องให้ประชาชนมาส่วนร่วมในการประมูลงานตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำเพื่อร่วมตรวจสอบความถูกต้อง รวมถึงหน่วยงานรัฐเองต้องมีความเข้มงวดเอาจริงเอาจังในการตรวจสอบและลงโทษผู้ที่ทำผิด รวมถึงการแก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานลดชั้นตอนหรือช่องว่างในการทุจริตซึ่งการปฏิรูปกฎหมายถือว่าเป็นประเด็นสำคัญที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไข