ชิงเดือด “ทางด่วนกะทู้-ป่าตอง” 1.4 หมื่นล้าน

31 มี.ค. 2566 | 05:57 น.

ชิงเดือด ประมูล ทางด่วนกะทู้-ป่าตอง 1.4 หมื่นล้าน “กทพ.” ปักธง รับซองข้อเสนอประมูล 7 เม.ย.นี้ คาดได้ตัวผู้ชนะภายใน 2 เดือน เล็งชงครม.ชุดใหม่เคาะลงนามสัญญาภายในเดือนต.ค.66 ดึงเอกชนร่วมทุน PPP สัมปทาน 35 ปี

การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)  ได้ฤกษ์เดินเครื่องประมูล โครงการทางพิเศษ (ทางด่วน) กะทู้-ป่าตอง14,670.57 ล้านบาท ระยะทางรวม 3.98 กิโลเมตร (กม.)  อย่างเป็นทางการ  หากโครงการฯแล้วเสร็จจะเป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อระหว่างตัวเมืองฝั่งตะวันออกของภูเก็ตไปยังหาดป่าตองได้สะดวกมากขึ้น  

ขณะความคืบหน้า รายงานข่าวจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า  กทพ.อยู่ระหว่างให้เอกชนจัดทำข้อเสนอ ประมาณ 3 เดือน โดยเปิดรับซองเอกสารข้อเสนอจากเอกชนในวันที่ 7 เมษายนนี้ หลังจากออกประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP)

 คาดว่าจะเปิดซองข้อเสนอที่ 1 ภายในเดือนเมษายน นี้  รวมถึงได้ตัวผู้ชนะการประมูล โดยใช้ระยะเวลาดำเนินการแล้วเสร็จประมาณ 2 เดือน   จากนั้นจะเสนอต่อกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ ภายในเดือนตุลาคม  เพื่อลงนามสัญญาภายในปลายปีนี้
 
 

หากลงนามสัญญาร่วมกับเอกชนในโครงการฯแล้ว กทพ.จะเริ่มให้เอกชนเข้าพื้นที่ก่อสร้างประมาณกลางปี 2567  ใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 4 ปี และเปิดให้บริการประมาณปี 2570 หรือภายในต้นปี 2571 ส่วนการเวนคืนที่ดินนั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอพ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน มีผลบังคับใช้  ซึ่งจะต้องกำหนดค่าทดแทนการเวนคืนที่ดิน ใช้ระยะเวลาประมาณ 6 เดือน คาดว่าจะดำเนินการเวนคืนที่ดินแล้วเสร็จภายในกลางปี 2567

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2566 ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในท้องที่ ตำบลป่าตอง และตำบลกะทู้ อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต พ.ศ. .... (ร่าง พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน) จำนวน 192 แปลงและสิ่งปลูกสร้าง 222 หลัง

เพื่อก่อสร้างทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต และอาคารศูนย์บริหารทางพิเศษ จุดพักรถ (Rest Area) และสิ่งจำเป็นอื่น โดยพื้นที่ที่ถูกเวนคืนส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ของหน่วยงานภาครัฐ เช่น กรมป่าไม้,กรมทางหลวง ,องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ฯลฯ

“ในช่วงรัฐบาลรักษาการจะกระทบต่อการประมูลโครงการฯดังกล่าวหรือไม่นั้น เรายืนยันว่าไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากโครงการฯ ดำเนินการตามพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ทั้งนี้ในช่วงที่จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบลงนามสัญญาจะดำเนินการในช่วงรัฐบาลชุดใหม่แล้ว”


ส่วนการลงทุนโครงการทางด่วนสายกะทู้ - ป่าตอง เป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ในรูปแบบ PPP Net Cost โดยภาครัฐรับผิดชอบการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และภาคเอกชนรับผิดชอบงานส่วนที่เหลือทั้งหมด ได้แก่ การออกแบบ รายละเอียดและการก่อสร้าง และการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) ระยะเวลาสัมปทาน 35 ปี 

ชิงเดือด  “ทางด่วนกะทู้-ป่าตอง” 1.4 หมื่นล้าน

นอกจากนี้ในช่วงที่มีการประกาศขายเอกสารข้อเสนอโครงการฯนั้น มีบริษัทเอกชนซื้อเอกสารสำหรับคัดเลือกเอกชน (RFP) รวมทั้งสิ้น 13 ราย ประกอบด้วย  1. บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC 2. บริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด 3. บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD 4. บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ UNIQ 5. บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM 6. บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS 7. บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) หรือ NWR 8. บริษัท ไร้ท์ทันเน็ลลิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ RT 9. บริษัท ช การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK 10. บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) หรือ DMT 11. บริษัท EGIS 12. SRGB Bridge Engineering และ13. ไชน่า เรลเวย์ 20 บิวโร กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด

 

ด้านรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ของโครงการฯได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) แล้ว ส่วนผลการศึกษาของโครงการฯ ที่ผ่านมาพบว่ามีอัตราผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจ (EIRR) กับ 20.44% ขณะที่ผลตอบแทนด้านการเงินมีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) 1,734 ล้านบาท Equity Irr 8.50% อัตราส่วนผลตอบ แทนต่อต้นทุน (B/C ratio) 1.12 เท่า ระยะเวลาคืนทุน 21 ปี  


สำหรับรูปแบบโครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง เป็นโครงการก่อสร้างทางยกระดับ มีอุโมงค์อยู่ในช่วงกลางของแนวเส้นทาง ระยะทางรวม 3.98 กิโลเมตร (กม.) มีจุดเริ่มต้นโครงการเชื่อมกับ ถ.พระเมตตา ในพื้นที่ ต.ป่าตอง อ.กะทู้ จน ถึงจุดสิ้นสุดโครงการฯ ในพื้นที่ ต.กะทู้ อ.กะทู้ มีทางขึ้น-ลง 2 แห่ง และมีด่านเก็บค่าผ่านทางตั้งอยู่บริเวณ ต.กะทู้ 1 ด่าน