หลังยุบสภากลไกการจัดการเลือกตั้งก็เดินหน้า เข้าสู่โหมดเปิดตลาดการเมือง โดยเวลานี้แต่ละเขตก็เปิดตัวกันชัดแล้ว ว่าใครลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคไหน และผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ 100 คนของแต่ละพรรคมีใครบ้าง ผู้นำธุรกิจและองค์กรวิชาชีพหลักจังหวัดตรัง มีแนวทางพิจารณา หรือความคาดหวังต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 4 เขตของจังหวัดตรัง เป็นอย่างไร เพื่อจะได้แก้ไขปัญหาความทุกข์ร้อนของประชาชน และพัฒนาท้องถิ่นให้เจริญรุดหน้า
นายบุญชู ศัยศักดิ์พงษ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ตรังผลิตภัณฑ์อาหารทะเล จำกัด (มหาชน) และรองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตรัง เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า อยากได้ส.ส.ตรังทั้ง 4 เขต ที่สามารถผลักดันโครงการให้มีงบมาพัฒนาจังหวัดให้มากขึ้น เพราะเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นแล้วตรังยังด้อยกว่ามาก แม้มีระบบคมนาคมขนส่งครบ ทั้งถนน ทางรถไฟ เส้นทางเดินเรือ และสนามบิน แต่ไม่เด่นสักด้าน โดยส.ส.ต้องมีภาวะผู้นำในการแก้ปัญหา เป็นคนเก่งที่จะนำพาประเทศชาติได้ เข้าถึงสะดวก
ส่วนรัฐบาลใหม่ต้องรักษาเสถียรภาพให้บ้านเมืองสงบปลอดภัย ออกนโยบายหรือกฎหมายที่เอื้อให้เอกชนทำการค้าการลงทุนได้สะดวก ให้ไปแข่งขันกับประเทศคู่แข่ง เรื่องเร่งด่วนคือตำรวจค้ายา หรือตั้งแก๊งสร้างอิทธิพล ต้องปราบปรามอย่างเด็ดขาด เลิกการซื้อขายตำแหน่งในวงการตำรวจเสียที
ด้านนางวิไลพร พิตรปรีชา กรรมการผู้จัดการ บริษัท เรือรัษฎา โฮเต็ล จำกัด เผยว่า หลังเลือกตั้งหวังจะเห็นการจัดตั้งรัฐบาลที่ราบรื่น มั่นคง สามารถบริหารประเทศได้ด้วยดี และรีบบริหารเศรษฐกิจ ให้การค้าการลงทุนดี เกิดสภาพคล่องทุกด้าน ออกนโยบายที่เอื้อรายเล็กให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนให้มากที่สุด เพื่อให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนไปได้ด้วยตัวเอง
ถัดมาคือ รัฐบาลใหม่ต้องผลักดันธุรกิจท่องเที่ยวให้เติบโต สร้างความเชื่อมั่นไว้วางใจแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามา ทั้งเรื่องมาตรฐานการให้บริการ ความสะดวกปลอดภัยในการเดินทางท่องเที่ยว ทั้งในแหล่งธรรมชาติหรือสถานที่ท่องเที่ยวที่สร้างขึ้น โดยเจ้าหน้าที่และหน่วยงานรัฐต้องดูแล อย่าให้มีมิจฉาชีพเอาเปรียบนักท่องเที่ยว
ขณะที่ นายชัยฤทธิ์ ถ่ายย้วน เกษตรกรชาวสวนปาล์มนํ้ามันจังหวัดตรัง และคณะ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการบริหารจัดการปาล์มนํ้ามันอย่างเป็นระบบ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ส.ส.ต้องเป็นคนมีมนุษยสัมพันธ์ มีนํ้าใจ รับฟังปัญหาชาวบ้าน ซื่อตรงจริงใจที่จะนำปัญหาของชาวบ้านไปแก้ไข ในเวทีรัฐสภาหรือรัฐบาล
โดยเวลานี้เกษตรกร เดือดร้อนมากเรื่องวัสดุทางการเกษตรมีราคาสูงขึ้นมาก เช่น ปุ๋ย เคมีภัณฑ์ ซึ่งรัฐบาลควรต้องเร่งแก้ไข รวมทั้งต้องพัฒนาระบบราชการให้แก้ปัญหาให้เกษตรกรทันเวลา เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันและพัฒนาอาชีพเกษตรกรให้มากกว่านี้ ไม่ตั้งงบประมาณเพื่อช่วยกลุ่มเดียว เช่น การชดเชยราคาสินค้าที่ให้กับบางตัวเท่านั้น ควรต้องทำให้สินค้าเกษตรมีราคาสูงขึ้นโดยอิงกับต้นทุนการผลิตจริง รวมถึงเอาจริงเสียทีกับเมกะโปรเจ็กต์ภาคใต้อย่าง “คลองไทย” ที่ศึกษาไว้มากแล้ว
ส่วนนายเจริญ ศรนารายณ์ ประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน อำเภอนาโยง จ.ตรัง และกำนันแหนบทองคำปี 2562 ให้ความเห็นว่า ส.ส.ที่ดีต้องทำหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎรให้ดี นำปัญหาของประชาชนทุกภาคส่วนไปอภิปรายในสภา บอกปัญหาความทุกข์ของชาวบ้าน โดยเฉพาะเกษตรกรชาวตรัง ที่ทำนาไว้บริโภคในครัวเรือนเท่านั้น ขณะที่พืชเศรษฐกิจทั้งยางพาราและปาล์มนํ้ามัน ก็ไม่สามารถฝากอนาคตไว้ได้เลย รัฐบาลต้องมีแผนแก้ไขระยะยาว
อีกปัญหาคือที่ดินทำกินโซนภูเขาบรรทัดตั้งแต่อ.ห้วยยอด ถึงอ.ปะเหลียน ทับซ้อนกับเขตอุทยานฯ ชาวบ้านเดือดร้อนถูกเจ้าหน้าที่รัฐจับกุมดำเนินคดี ขณะที่ที่ดินโซนชายทะเล 4 อำเภอ ก็คาบเกี่ยวกับที่ดินอุทยานฯ เป็นปัญหายืดเยื้อมานับ 100 ปี แต่ไม่มีส.ส.หรือภาครัฐที่จะจริงใจจริงจังแก้ปัญหาให้ลุล่วงเลย
ด้านเสียงสะท้อนจากคนตรังทั่วไป ยังต้องการให้เข้าถึงการรักษาพยาบาล การดูแลสุขภาพได้ง่าย จากที่ต้องเข้าแถวยาวและรอคิวนาน ขณะที่ส.ส. ต้องจริงใจจริงจังในการทำหน้าที่ ดูแลทุกข์สุขชาวบ้าน รัฐบาลมีมาตรการดูแลสินค้าเกษตรตก ตํ่าอย่างยั่งยืน
อีกปัญหาร้อนคือยาเสพติดที่ยึดครองทุกตารางนิ้วของตรังและประเทศ น่าห่วงว่าอนาคตเยาวชนคนรุ่นต่อไปจะอยู่อย่างไร ขณะที่มีข่าวคนคลั่งยาเสพติดทำร้ายพ่อแม่ คนใกล้ชิด กระทั่งคนไม่เกี่ยวข้องเผอิญโดนลูกหลง รัฐต้องกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ มีสถานบำบัดโดยเฉพาะเปลี่ยนผู้เสพกลับมาเป็นกำลังของครอบครัวและสังคม
คนตรังยังอยากเห็นส.ส.ที่มีคุณภาพ รับผิดชอบต่อหน้าที่ รัฐบาลใหม่มีเสถียรภาพในการบริหาร นำพาประเทศเจริญทางเศรษฐกิจและปลอดภัยอบอุ่นทางสังคม ทุกฝ่ายยึดมั่นกติกา แข่งขันในระบบ
ธีมดี ภาคย์ธนชิต/รายงาน
หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,876 วันที่ 6-8 เมษายน พ.ศ.2566