“พาณิชย์”เฝ้าระวังแอบอ้างถิ่นกำเนิดผลไม้ไทยหวั่นเสียชื่อในตลาดโลก

14 เม.ย. 2566 | 05:18 น.
อัปเดตล่าสุด :14 เม.ย. 2566 | 05:25 น.

พาณิชย์ เดินหน้าป้องสิทธิ-ลงโทษผู้ส่งออกลักลอบนำเข้าผลไม้จากประเทศเพื่อนบ้าน แอบอ้างเป็นผลไม้ไทยส่งออกไปจีนเข้มมาตรการเฝ้าระวังสินค้าผลไม้ หวั่นกระทบต่อภาพลักษณ์และชื่อเสียงของผลไม้ไทย

 

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ในช่วงเดือนมีนาคมซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นฤดูผลไม้ของไทย กรมฯ ได้รับแจ้งข้อมูลและได้รับการร้องเรียนจากกลุ่มเกษตรกรว่ามีกลุ่มผู้ไม่หวังดีลักลอบนำเข้าผลไม้หลายชนิดโดยเฉพาะทุเรียนจากประเทศเพื่อนบ้านแล้วส่งออกไปจีน โดยใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form E เพื่อขอรับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร ซึ่งการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าโดยใช้ไทยเป็นฐานในการปลอมแปลงถิ่นกำเนิด ส่งผลต่อภาพลักษณ์และชื่อเสียงของผลไม้ไทยเป็นอย่างมาก

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ

โดยตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2564 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน กรมฯ ได้จับตาเฝ้าระวังการสวมสิทธิผลไม้ไทยที่ส่งออกไปจีนอย่างต่อเนื่อง โดยได้กำหนดให้ผลไม้จำนวน 12 รายการ ได้แก่ มังคุดสด   ทุเรียนสดและแช่แข็ง  ส้มโอสดหรือแห้ง ลำไยสด มะพร้าว  ขนุน น้อยหน่า  สับปะรด  มะม่วง  กล้วย  ชมพู่ และ เงาะ อยู่ในบัญชีรายการสินค้าเฝ้าระวัง (Watch-List) ของกรมฯ ซึ่งจะมีขั้นตอนในการพิจารณาออกหนังสือรับรองฯ ที่เข้มงวดและรัดกุมมากยิ่งขึ้น 

โดยให้ผู้ยื่นขอ Form E จะต้องระบุข้อมูลเพิ่มเติม ได้แก่ ข้อความยืนยันแหล่งที่มาของสินค้า วันที่ส่งออก  ด่านที่ส่งออกของไทย  ประเภทยานพาหนะ และ  ชื่อยานพาหนะ นอกจากนี้ ต้องแนบเอกสารเพิ่มเติม ได้แก่ หนังสือรับรองว่าเป็นสินค้าที่มีถิ่นกำเนิดในไทยและผลิตถูกต้องตามกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (หนังสือรับรองกรมฯ) และ  เอกสารหลักฐานอื่นที่แสดงการได้มาซึ่งสินค้าที่สามารถตรวจสอบและเชื่อถือได้ อาทิ ใบเสร็จซื้อขาย เป็นต้น

“พาณิชย์”เฝ้าระวังแอบอ้างถิ่นกำเนิดผลไม้ไทยหวั่นเสียชื่อในตลาดโลก

นอกจากนี้ ในการส่งออกผลไม้ของไทยไปจีน ผู้ส่งออกจะต้องปฏิบัติตามประกาศกรมวิชาการเกษตร (กวก.) เรื่อง การขอใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับผลไม้ส่งออกจากราชอาณาจักรไทยไปสาธารณรัฐประชาชนจีน พ.ศ. 2564 ข้อ 9 (1) – (3) ที่กำหนดให้ผลไม้ที่ส่งออกต้องมาจากสวนผลไม้หรือโรงคัดบรรจุ (ล้ง) ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนทั้งจาก กวก. และสำนักงานศุลกากรของจีน (GACC) แล้วเท่านั้น โดยเจ้าของสวนผลไม้จะได้รับใบรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหาร (GAP) ส่วนเจ้าของโรงคัดบรรจุ (ล้ง) จะได้รับหนังสือสำคัญแสดงการขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตสินค้าพืช (DOA) รวมทั้งเอกสารอื่นๆ เช่น รายงานการปฏิบัติงานตรวจผลไม้ส่งออก ณ โรงคัดบรรจุ ป้ายหรือฉลากแสดงข้อมูลที่จำเป็นบนบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น

“พาณิชย์”เฝ้าระวังแอบอ้างถิ่นกำเนิดผลไม้ไทยหวั่นเสียชื่อในตลาดโลก

โดย กวก. ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลการขึ้นทะเบียนดังกล่าวกับสำนักงานศุลกากรจีนเพื่อยืนยันความถูกต้องของแหล่งที่มาของผลไม้ ดังนั้น “หากผู้ส่งออกรับซื้อผลไม้จากสวนหรือโรงคัดบรรจุ (ล้ง) สามารถนำเอกสารดังกล่าวข้างต้นมาแนบประกอบการยื่นขอ Form E เพื่อแสดงความเชื่อมโยงของข้อมูลการได้มาซึ่งวัตถุดิบ/สินค้า ที่สามารถตรวจสอบและเชื่อถือได้ตามที่กรมฯ กำหนด” นายรณรงค์ กล่าว

 

จากสถิติการออกหนังสือรับรองฯ Form E สินค้าผลไม้พิกัดศุลกากรที่ 0801 – 0810 ในปี 2566 ช่วง 2 เดือนแรก (มกราคม - กุมภาพันธ์) มีจำนวนรวม 13,034 ฉบับ คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 420 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยผลไม้ที่มีการส่งออกสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ทุเรียนสด  มะพร้าว และ  ลำไยสด

“พาณิชย์”เฝ้าระวังแอบอ้างถิ่นกำเนิดผลไม้ไทยหวั่นเสียชื่อในตลาดโลก

 “การป้องกันการสวมสิทธิและการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าผลไม้ เพื่อให้ประเทศไทยได้รับความเชื่อถือและความมั่นใจจากประเทศคู่ค้าว่าผลไม้ที่ส่งออกจากไทยเป็นผลไม้ที่มีถิ่นกำเนิดไทยจริง อีกทั้งยังช่วยรักษาความเชื่อมั่นในมาตรฐาน ภาพลักษณ์และชื่อเสียงของผลไม้ไทยในตลาดโลกอีกด้วย ซึ่งหากกรมฯ พบเหตุอันน่าสงสัยว่าอาจมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการสวมสิทธิหนังสือรับรองฯ”

สำหรับสินค้าผลไม้เฝ้าระวัง อาจมีการสุ่มตรวจการส่งออกผลไม้ รวมทั้งตรวจสอบเอกสารที่แนบประกอบการพิจารณาขอ Form E หากพบว่ามีการปลอมแปลงหรือแสดงเอกสารอันเป็นเท็จกรมฯ จะดำเนินคดีตามกฎหมายและเพิกถอนหนังสือรับรองฯ ฉบับดังกล่าว รวมถึงขึ้นบัญชีเป็นผู้ส่งออกที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อการค้าระหว่างประเทศ นอกจากนี้ กรมฯ อาจประสานศุลกากรในการลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบการส่งออก-นำเข้า สินค้าผลไม้เฝ้าระวังดังกล่าว ณ จังหวัดที่มีด่านพรมแดนและจุดผ่อนปรนการค้าที่ติดกับประเทศจีนอีกทางหนึ่งด้วย