นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า กทพ.จัดลงนามบันทึกความเข้าใจกับสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) ขับเคลื่อน ‘MISSION 2023’ ส่งเสริมการใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก ซึ่งเป็นวัสดุก่อสร้างคาร์บอนต่ำ ในทุกการก่อสร้างเครือข่ายระบบทางพิเศษ ตามมาตรฐานวิศวกรรมงานก่อสร้าง
ทั้งนี้กทพ. ตั้งเป้าหมายใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก โดยนำร่อง 2 โครงการ ประกอบด้วย 1. โครงการทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ - ถนนลำลูกกา) ระยะทาง 16.21 กิโลเมตร ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี มูลค่าการลงทุน 24,060.04 ล้านบาท
2. โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ระยะที่ 1 ตอน N2 ถนนประเสริฐมนูกิจเชื่อมต่อไปยัง ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออกระยะทาง 11.3 กิโลเมตร มูลค่าการลงทุน 16,960 ล้านบาท
นอกจากนี้ทั้ง 2 โครงการ ประเมินว่า สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ 34,104 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ (เทียบเท่าปลูกไม้พื้นเมืองเพื่อดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์กว่า 3,500,000 ต้น) เพื่อบรรลุเป้าหมายการลด ก๊าซเรือนกระจก 1,000,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ภายในปี 2566 และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน
ดร. ชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย กล่าวว่า สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) พร้อมสนับสนุนนโยบายภาครัฐ Thailand Net Zero ให้สำเร็จตามเป้าหมาย ที่มุ่งมั่นให้เกิดผลเชิงประจักษ์ในการลดก๊าซเรือนกระจก ลดโลกร้อน
สำหรับการลงนามบันทึกความเข้าใจในวันนี้ สะท้อนถึงความร่วมมือและการผนึกกำลังกันอย่างเข้มแข็งของ กทพ. และ TCMA ในการร่วมกันเดินหน้าสนับสนุนนโยบายลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ในสาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ (Industrial Processes and Product Use: IPPU) ให้เกิดผลในทางปฏิบัติ ด้วยการส่งเสริมการใช้วัสดุก่อสร้างประเภทปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก ในทุกโครงการก่อสร้างของ กทพ.
“TCMA มีความยินดีที่ กทพ. ที่เข้ามาร่วมเป็นกำลังสำคัญขับเคลื่อน ‘MISSION 2023’ ให้บรรลุเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก 1,000,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ในเวลาที่ตั้งใจกันไว้ ภายในปี 2566 จากนั้น ในวันที่ 1 มกราคม 2567 ประเทศไทยจะก้าวสู่ยุคใหม่ที่ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกจะเข้ามาเป็นปูนโครงสร้างหลักแทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์แบบเดิม”