นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เปิดเผยว่าในครั้งปีหลังนี้GITจะเดินหน้าจัดทำมาตรฐานห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณี เครื่องประดับและโลหะมีค่า หรือ GIT Standard ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณีและเครื่องประดับในประเทศให้มีมาตรฐานเทียบเท่าระดับสากล
ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีห้องปฏิบัติการที่ผ่านเกณฑ์ขึ้นทะเบียนมาตรฐาน GIT Standard แล้วจำนวน 5 แห่ง ได้แก่ ห้องปฏิบัติการอัญมณี คณะอัญมณี มหาวิทยาลัยบูรพา , ห้องปฏิบัติการ บริษัท เอ็มทีเอส รีไฟเนอรี่ แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด
ห้องปฏิบัติการ บริษัท พรีเชียส พลัส จำกัด , ห้องปฏิบัติการ บริษัท รีฟายนิ่งโลหะมีค่า จำกัด และห้องปฏิบัติการ บริษัท จีซีไอ แล็บ จำกัด ซึ่ง GIT จะผลักดันให้ห้องปฏิบัติการและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้ มีการผ่านเกณฑ์มาตรฐาน GIT Standard เพิ่มมากขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทย
นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะผลักดัน BCG Model ในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ โดยจะผลักดันให้ผู้ประกอบการเห็นถึงความสำคัญของ BCG ในการผลิตเครื่องประดับ เพราะเป็นเทรนด์ของโลก หากทำได้ ก็จะช่วยให้สินค้าเป็นที่ต้องการเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในปี 2566 ก็ยังคงเน้นความเป็นสีทอง และพลอยเนื้ออ่อน
แต่ยังคงให้ความสำคัญกับความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการช่วยพัฒนาผู้ประกอบการท้องถิ่น ที่ปีนี้ได้ทำโครงการพัฒนาต่อยอดอัตลักษณ์เครื่องประดับภาคใต้เพื่อการท่องเที่ยว (เสน่ห์ใต้) ที่ได้เน้นการนำวัสดุพื้นถิ่น หรือการนำวัสดุที่เหลือใช้มา Upcycle กลายเป็นเครื่องประดับที่ทันสมัย และตอบโจทย์ความต้องการของโลก จนปัจจุบันเกิดเป็นชิ้นงานใหม่ ๆ ที่น่าสนใจออกมาแล้ว
สำหรับงานแสดงสินค้า GIT จะร่วมมือกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จัดงานบางกอก เจมส์ ครั้งที่ 68 วันที่ 6-10 ก.ย.2566 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และการจัดงานเทศกาลนานาชาติพลอยและเครื่องประดับจันทบุรี 2023 วันที่ 7-11 ธ.ค.2566 ณ ศูนย์ส่งเสริมอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรี เคพี จิวเวลรี่เซ็นเตอร์ และตลาดพลอย ถ.ศรีจันทร์ จ.จันทบุรี ซึ่งปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 4