ครม. หนุนอาเซียนใช้สกุลเงินท้องถิ่นทำธุรกรรมในภูมิภาค

09 พ.ค. 2566 | 06:40 น.

รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม. เห็นชอบอาเซียนร่วมผลักดันการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินในภูมิภาคและการส่งเสริมธุรกรรมสกุลเงินท้องถิ่น ตามเป้าหมายการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจประชาคมอาเซียน 2568

9 พฤษภาคม 2566 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการผลักดันการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินในภูมิภาคและการส่งเสริมธุรกรรมสกุลเงินท้องถิ่น (ASEAN Leaders’ Declaration on Advancing Regional Payment Connectivity and Promoting Local Currency Transition)

โดยผู้นำอาเซียนจะพิจารณาการรับรองร่างปฏิญญาฯ ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 42 (42nd ASEAN Summit) ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2566 ณ เมืองลาบวน บาโจ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย 

สำหรับร่างปฏิญญาฯ ฉบับนี้ได้จัดทำขึ้นตามเป้าหมายของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจตามแผนงานประชาคมอาเซียน 2568 (AEC Blueprint 2025) เศรษฐกิจอาเซียนรวมกลุ่มอย่างแน่นแฟ้นและแข็งแกร่ง สนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูงอย่างยั่งยืน รวมถึงมีภาคการเงินที่ครอบคลุมทุกภาคส่วนและมีเสถียรภาพซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้ 

การผลักดันการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินในภูมิภาค 

  • ส่งเสริมการใช้นวัตกรรมเพื่อสนับสนุนให้มีการชำระเงินข้ามพรมแดนที่ไร้รอยต่อและปลอดภัย
  • ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเอื้อให้ระบบชำระเงินข้ามพรมแดนสามารถทำงานร่วมกันได้
  • ส่งเสริมการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเอื้อให้ระบบชำระเงินข้ามพรมแดนสามารถทำงานร่วมกันได้ รวมถึงมีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย 

การส่งเสริมธุรกรรมสกุลเงินท้องถิ่น 

  • สนับสนุนการจัดตั้งคณะทำงานด้านการทำธุรกรรมด้วยสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency Transaction Task Force) 
  • กำกับดูเเลภาคการเงินเพื่อลดความเปราะบางของภูมิภาคต่อความผันผวนจากภายนอก
  • พิจารณาให้เกณฑ์การเเลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศมีความยืดหยุ่น ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการค้าการลงทุน เเละสร้างความเเข็งเเกร่งให้กับประเทศในภูมิภาค

ทั้งนี้ ผู้นำอาเซียนมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียนเป็นผู้ดูแลการดำเนินการผลักดันการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินในภูมิภาคและพิจารณาแนวทางพัฒนากรอบการส่งเสริมการทำธุรกรรมด้วยสกุลเงินท้องถิ่น โดยให้ประสานกับคณะทำงานของภาคส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด

สำหรับสาระของร่างปฏิญญาฯ เป็นการแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองระดับผู้นำอาเซียนในการส่งเสริมการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ และส่งเสริมความร่วมมือในการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินในภูมิภาคโดยใช้เทคโนโลยี

รวมทั้งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนสนับสนุนการจัดตั้ง Local Currency Transaction Task Force สนับสนุนการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการทำธุรกรรม

อย่างไรก็ดี ร่างปฏิญญาฯ ไม่มีถ้อยคำที่ให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่มีการลงนาม ดังนั้น ร่างปฏิญญาฯ จึงไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่เป็นหนังสือตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560