รัฐบาลใหม่ "ลุยไฟ" ปัจจัยเสี่ยงใน-นอกรุม รอพิสูจน์ฝีมือ

13 พ.ค. 2566 | 08:21 น.
อัปเดตล่าสุด :13 พ.ค. 2566 | 08:21 น.

เช็คลิสต์ความท้าทายใน-นอกประเทศ ปัจจัยเสี่ยง รอพิสูจน์ฝีมือรัฐบาลใหม่ ภาคเอกชนชี้สารพัดปัจจัยลบเศรษฐกิจ ทั้งค่าไฟ น้ำมันแพง เงินเฟ้อ ดอกเบี้ยสูง ภัยแล้ง หนี้ครัวเรือนรอแก้ ขณะความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์รอปะทุอีกหลายคู่ จี้ดันส่งออกสู้ค้าโลกทรุด กฎกติกาเปลี่ยน

การเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 จะเป็นตัวตัดสินว่าพรรคใด ขั้วใดจะได้จัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่จะมานำพาประเทศไทยขับเคลื่อนไปอีก 4 ปีจากนี้ ท่ามกลางความท้าทายจากปัจจัยทั้งในประเทศและในต่างประเทศ ที่รัฐบาลใหม่ต้องเผชิญรออยู่ข้างหน้านานัปการ และมีความคาดหวังสูงของภาคเอกชน-ประชาชน กับทีมที่จะเข้ามาบริหารประเทศอย่างมืออาชีพ

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า มีหลายปัญหาที่เป็นความท้าทายรอรัฐบาลใหม่เข้ามาแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการราคาพลังงานต่าง ๆ ที่เป็นต้นทุนการผลิตของภาคธุรกิจ และค่าครองชีพของประชาชนให้มีความเหมาะสม โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าที่เวลานี้ค่าไฟฟ้าไทยสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน (งวด พ.ค.-ส.ค. ค่าไฟไทยอยู่ที่ 4.70 บาทต่อหน่วย) ขณะที่มาเลเซียอยู่ที่ 1.76 บาทต่อหน่วย เวียดนาม 2.74 บาทต่อหน่วย และอินโดนีเซีย 3.37 บาทต่อหน่วย กระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของไทย ในการดึงการลงทุนจากต่างประเทศ และอาจเกิดการย้ายฐานการผลิต นอกจากนี้จะมีผลกระทบต่อราคาสินค้าในประเทศบางรายการที่อาจต้องปรับขึ้น

สนั่น  อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

  • ค่านํ้า ค่าจ้าง ดอกเบี้ยกระทบต้นทุน

นอกจากนี้รัฐบาลใหม่ต้องบริหารค่านํ้าประปา ค่าจ้างแรงงาน อัตราดอกเบี้ย ให้อยู่ในอัตราที่เหมาะสม จากปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อต้นทุนการผลิต และต้นทุนของภาคธุรกิจที่ยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่ความท้าทายของโลกเวลานี้หลายประเทศมีปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์(Geopolitics) ไทยต้องใช้จังหวะนี้เป็นโอกาส ในการเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับนานาชาติ เพื่อดึงการลงทุนตรง(FDI) จากต่างประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

รวมถึงในภาคอสังหาริมทรัพย์ของไทย ที่หากรัฐบาลใหม่เข้ามาศึกษาแนวทางในการปรับปรุงกฎระเบียบให้มีความชัดเจน โดยยึดผลประโยชน์ของประชาชน และประเทศชาติเป็นหลัก จะสร้างประโยชน์ได้อย่างมหาศาล รวมถึงการแก้ไขและปรับปรุงกฎระเบียบที่ล้าสมัย เพื่ออำนวยความสะดวก และตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจ

รัฐบาลใหม่ \"ลุยไฟ\" ปัจจัยเสี่ยงใน-นอกรุม รอพิสูจน์ฝีมือ

 

  • ผวาภัยแล้งกระทบลงทุน EEC

ด้าน นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวว่า ในการประชุมกกร.ล่าสุด ณ เดือนพฤษภาคม ที่ประชุมมีความกังวลต่อความเสี่ยงภัยแล้ง ที่อาจส่งผลกระทบต่อภาคตะวันออก จากมีโอกาสที่ปรากฎการณ์เอลนีโญจะเกิดขึ้น ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2566 และอาจรุนแรงติดต่อกันนานถึง 3 ปี ซึ่งอาจทำให้เกิดคลื่นความร้อนและภัยแล้งในวงกว้าง ต้องเร่งวางแผนรับมือ

ความท้าทายสำคัญ ที่ต้องเร่งแก้ในลำดับต้น ๆ คือ ปัญหาค่าไฟฟ้าแพง ภาคเอกชนขอให้รัฐบาลชุดใหม่เร่งจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านพลังงาน หรือ กรอ.พลังงาน เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนที่เป็นผู้มีส่วนได้เสีย เข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายด้านพลังงานของประเทศ

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

  • จับตา Geopolitics ลามคู่ใหม่

ส่วนความท้าทายจากนอกประเทศ เช่น ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์  (Geopolitics) ที่มีหลายคู่ของโลก ที่กลายเป็นสงคราม และยังยืดเยื้อคือรัสเซีย-ยูเครน นอกจากนี้มีความขัดแย้ง สหรัฐฯ-ชาติตะวันตก-จีน, จีน-ไต้หวัน เกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้ รวมถึงความขัดแย้งในตะวันออกกลาง เช่น อิหร่าน-อิสราเอล อิสราเอล-ปาเลสไตน์ ซีเรีย-ตุรกี เป็นต้น ซึ่งสถานการณ์ต่าง ๆ ยังไม่สามารถไว้วางใจได้ ขณะที่ประเทศต่าง ๆ ข้างต้นส่วนใหญ่เป็นคู่ค้าของไทย และบีบให้ไทยต้องเลือกข้าง ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ การค้า และการเมืองระหว่างประเทศที่อาจลามผลกระทบมาถึงไทยได้ รัฐบาลชุดใหม่ต้องวางจุดยืนให้ดี

  • เร่งส่งออกสู้ค้าโลกทรุด

ขณะที่ นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ภารกิจเร่งด่วนรัฐบาลใหม่ 100 วันแรก ได้แก่ การบริหารจัดการเรื่องค่าไฟฟ้า การอำนวยความสะดวก และตั้งงบประมาณสนับสนุนพลังงานทางเลือก ทั้งภาคครัวเรือนและภาคการผลิตให้เป็นรูปธรรม การกระตุ้นการส่งออก ที่เวลานี้การค้าโลกชะลอตัวลง การสนับสนุนและเร่งยกระดับภาคการผลิตของไทย ให้สอดคล้องกับมาตรการรักษาสิ่งแวดล้อม ลดโลกร้อน และรองรับกับมาตรการต่าง ๆ ของประเทศคู่ค้า เช่น CBAM ของยุโรป และอื่น ๆ

ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย

“โลกมีความท้าทายจากปัญหา Geopolitics ที่รัฐบาลใหม่ต้องระมัดระวัง ในเรื่องนี้เป็นสำคัญ รวมถึงวิกฤตสถาบันการเงินล่ม เศรษฐกิจชะลอตัว เงินเฟ้อ ต้นทุนเพิ่มขึ้นรอบด้าน มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนในทุกบริบทของแต่ละกิจกรรม โรคระบาดและปัญหาด้านสุขภาพของประชาชน จากปัญหาหมอกควัน หรือฝุ่น PM 2.5 ที่ต้องเร่งแก้ไขปัญหาให้บังเกิดผลที่เป็นรูปธรรมอย่างจริงจัง”

  • ห่วง“ค่าแรง”แซงผลิตภาพ

สถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผย ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC-CI) เดือนเม.ย. 2566 ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจและหอการค้าทั่วประเทศ จำนวน 369 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 24-28 เม.ย. 2566 โดยดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 51.9 เพิ่มขึ้นจากระดับ 50.5 ในเดือนมี.ค. 2566

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย กล่าวว่า ถือว่าเป็นระดับที่ดีสุดในรอบ 64 เดือน นับตั้งแต่ได้เริ่มทำการสำรวจมา 6 ปี และยังนับเป็นครั้งแรก ที่ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในทุกภาค อยู่สูงกว่าระดับ 50 จุด

ทั้งนี้ ผู้ประกอบธุรกิจส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่า สาเหตุหลักมาจากเศรษฐกิจในภูมิภาค ได้รับอานิสงส์จากภาคการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ ทำให้มีเงินเข้าไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ประชาชนมีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น และเริ่มมีความต้องการอุปโภค-บริโภคสินค้าและบริการมากขึ้น ทำให้ภาคการผลิตมีคำสั่งซื้อเข้ามามากขึ้น โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวได้อย่างชัดเจน ในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้

ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย

อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบธุรกิจส่วนใหญ่ยังกังวลปัจจัยที่บั่นทอนความเชื่อมั่น ได้แก่ ปัญหาฝุ่น PM2.5 ซึ่งกระทบต่อสถานการณ์การท่องเที่ยวในบางภูมิภาค นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังกังวลต่อภาวะต้นทุนค่าไฟที่แพงขึ้น รวมทั้งนโยบายหาเสียงของบางพรรค การเมืองในเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนของภาคธุรกิจในอนาคต

“ผู้ประกอบการต้องการให้ค่าแรงปรับขึ้นสอดคล้องกับสถานการณ์เงินเฟ้อ และความสามารถในการที่จะจ่ายได้จริงของนายจ้าง ปรับตามกลไกข้อตกลงร่วมกันของไตรภาคี ไม่ใช่มากำหนดล่วงหน้าไว้จากนโยบายหาเสียงแบบนี้” นายธนวรรธน์ กล่าว

พร้อมระบุว่า ผู้ประกอบธุรกิจยังเชื่อว่าเศรษฐกิจของทุกภูมิภาคจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ โดยเศรษฐกิจไทยยังมีลักษณะการฟื้นตัวแบบ K shape และมีฐานความมั่นคงที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเห็นการฟื้นตัวที่โดดเด่นขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 4 เป็นต้นไป

  • ตลาดการเงินห่วงโลกป่วนฟาดหางไทย

ขณะที่ความเสี่ยงที่จะกดดันตลาดในระยะสั้น ยังเป็นประเด็นด้านความกังวลการเติบโตเศรษฐกิจ และการดำเนินนโยบายการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางต่างๆ โดยล่าสุด อัตราเงินเฟ้อยูโรโซนยังคงห่างจากกรอบเป้าหมาย ทำให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยังคงดำเนินนโยบายขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องในปีนี้ ซึ่งเป็นจุดที่แตกต่างจากนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ที่เร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยนำไปแล้ว

ทั้งนี้ ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยระหว่างยูโรโซนและสหรัฐฯอยู่ที่ 2% สะท้อนได้ว่า ECB มีโอกาสขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 1-2 ครั้ง ประกอบกับยังมีความกังวลเรื่องธุรกิจภาคธนาคารของยูโรโซน ซึ่งมองว่าอาจกระทบทิศทางตลาดในระยะถัดจากนี้

อย่างไรก็ดี นอกจากปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจแล้ว ตลาดยังมีประเด็นความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งในยุโรปและเอเชีย ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันทิศทางตลาดสินทรัพย์เสี่ยงเป็นระยะต่อเนื่องด้วยเช่นกัน

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3887 วันที่ 14 - 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2566