เช้าวันนี้ (15 พฤษภาคม 2566) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เตรียมรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปี 2566 และแนวโน้มปี 2566 โดยมีนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นผู้แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ว่าจะขยายตัวได้แค่ไหนในช่วงที่เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญกับปัญหาหลายเรื่อง
ทั้งนี้ยังต้องติดตามความคิดเห็นของ สศช. เกี่ยวกับผลการเลือกตั้งใหญ่ 2566 ด้วยว่า หลังจากผ่านวันลงคะแนนแล้ว บรรยากาศทางการเมือง ของประเทศไทยจะส่งผลอย่างไรต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2566 บ้าง โดยเฉพาะนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองที่หลายนโยบายอาจส่งผลกระทบไปถึงเรื่องการการใช้จ่ายงบประมาณของประเทศ
นายดนุชา กล่าวเมื่อเร็ว ๆ นี้ ในรายการฟังหูไว้หูทาง MCOT HD ถึงกรณีรัฐบาลใหม่เข้ามาหลังเลือกตั้งจะมีนโยบายที่ส่งผลกระทบต่องบประมาณรายจ่ายปี 2567 หรือไม่ ว่า จริง ๆ ต้องดูสองแนวทาง แนวทางแรกคือการปรับเล็ก ดูรายละเอียดงบประมาณภายในแล้วปรับเล็กน้อย อีกแนวทาง คือปรับใหญ่ นั่นหมายถึงการจัดทำงบประมาณใหม่ ซึ่งใช้เวลานานถึง 240 วัน เพราะต้องเริ่มทำทั้งกระบวนการจัดทำงบประมาณ ดูเรื่องประมาณการจัดเก็บรายได้เป็นยังไง รายจ่ายเป็นยังไง
"การจะมีนโยบายออกไปช่วยประชาชน ต้องมีความชัดเจนว่าจะไปช่วยประชาชนกลุ่มไหน และต้องทำแบบพุ่งเป้า จะทำทั่วทั้งกระดาน หรือจะทำแบบถ้วนหน้า คงไม่ได้ ต้องโฟกัสและมีความชัดเจน ว่าคนกลุ่มนี้มีปัญหาเรื่องอะไรแล้วจะช่วยแบบไหน โดยนโยบายต่าง ๆ ที่ออกมาก็มีความเป็นห่วง เพราะในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าความเสี่ยงนอกประเทศยังมีสูง และช่วงครึ่งปีหลังนี้ ก็ยังไม่แน่ใจว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลงไปขนาดไหน"
นายดนุชา ระบุว่า สถานการณ์ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงกลางปีที่แล้ว แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกประเทศอย่างใกล้ชิด เพราะจะส่งผลกระทบต่อการส่งออก ซึ่งศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทยที่แท้จริงคือ ต้องขยายตัวประมาณ 3-4%
ก่อนหน้านี้การแถลงตัวเลขเศรษฐกิจไทย ครั้งล่าสุดของ สศช. เป็นตัวเลขเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 ซึ่งขยายตัว 1.4% ทำให้ตัวเลข GDP ไทยทั้งปี 2565 เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้เพียง 2.6% ต่ำกว่าประมาณการเดิมที่ สศช. ประเมินเอาไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะขยายตัวได้ถึง 3.2% หลังได้รับผลประทบจากการส่งออกที่ชะลอตัวอย่างหนักในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2565
ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2566 สศช.ได้ปรับประมาณการเติบโต จากเป้าหมายเดิมคาดว่าจะขยายตัว 3 - 4% เหลือแค่ขยายตัวได้ 2.7 - 3.7% หรือโต 3.2% ซึ่งถ้าต้องการให้อยู่ในระดับนี้ ต้องฝากความหวังเรื่องการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว ควบคู่กับการบริโภคภายในประเทศ เป็นเครื่องยนต์คอยขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นหลัก