"รองประธานหอฯ" แนะรัฐบาลใหม่สานต่อโมเดลเศรษฐกิจ BCG  

01 มิ.ย. 2566 | 08:45 น.

รองประธานกรรมการหอการค้าไทย แนะรัฐบาลใหม่สานต่อโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญกับเป้าหมาย 17 ประการ เผย ขึ้นค่าแรง 450 บาทนโยบายพรรคก้าวไกลเป็นไปได้ถ้าเศรษฐกิจไทยดีขึ้น

ดร.วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกกิติศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป ให้สัมภาษณ์พิเศษ "ฐานเศรษฐกิจ" ในวันที่เนชั่นทีวีช่อง 22 ครบรอบ 23 ปีว่า นโยบายหลายเรื่องที่ควรสานต่อ เช่น โมเดลเศรษฐกิจ BCG  เศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญกับเรื่อง SDGs 17 ซึ่งนโยบาย BCG ของไทยเป็นตัวตอบโจทย์เรื่องนี้ เพียงแต่ว่าในแต่ละประเทศในโลกบางทีก็เรียกไม่เหมือนกันแต่ความหมายหรือปลายทางมัน คือ อันเดียวกัน

สุดท้ายแล้วการที่จะได้ประโยชน์จากตรงนี้ต้องไปดูว่า ประเทศคู่ค้าให้สำคัญสิ่งไหน และ มาตรฐานหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร เพราะว่าแต่ละประเทศมักจะเอาจุดแข็ง จุดเด่นของตัวเองมาเป็นตัวตั้ง

ไทยเองก็ต้องใช้จุดแข็งจุดเด่นของตัวเองเป็นตัวตั้งด้วยเช่นกันแต่จะต้องสอดคล้องกับประเทศที่เราจะค้าขายด้วย ไม่มากไม่น้อยเกินไป เพราะถ้ามากเกินไปผู้ประกอบการรายเล็กรายย่อยก็จะมีต้นทุนที่สูงมากเกินไปและแข่งขันไม่ได้แต่ถ้าน้อยเกินไปก็ขายสินค้าไม่ได้ด้วยเช่นกัน 

สำหรับนโยบายเร่งด่วนของพรรคก้าวไกล 100 วันแรกนั้นมีหลายเรื่องที่เห็นว่า สามารถเป็นฟันเฟืองช่วยเศรษฐกิจไทยได้ อย่างไรก็ดี การที่จะเดินต่อไปได้เร็วนั้น

"ผมเชื่อว่าตอนแรกที่เข้ามานั้นจะมีงบประมาณส่วนหนึ่งที่เป็นงบกลางที่ยังพอมีหมุนเวียนอยู่บ้างก็คงใช้ตัวนี้เป็นหลักไปก่อนจนกว่างบประมาณใหม่จะใช้ได้ อย่างไรก็ดี ทุกอย่างที่อยากจะปรับเปลี่ยนนั้นยังต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนผ่านอยู่บ้าง"

สำหรับประเทศไทยนั้นมีประชากรจำกัด และการเติบโตของประชากรไม่ค่อยเติบโตนัก ยังมีตัวเลขจีดีพีเดิมที่สัดส่วนสูง ๆ มาจากการส่งออก การท่องเที่ยว และจากการบริโภคภายในประเทศ ก่อนที่จะทำให้การบริโภคภายในประเทศสูงขึ้นได้นั้น ตัวเดิมยังคงทิ้งไม่ได้ ยังต้องมีความพยายามที่จะส่งเสริมให้เกิดการลงทุนซึ่งจากลงทุนจากต่างประเทศนั้นมีหลายเรื่องที่มีความจำเป็น เรื่องเทคโนโลยี เรื่องของโนฮาวด์ เรื่องที่ยังไม่สามารถทำเองได้ตอนนี้ ยังจำเป็นมากๆที่ยังต้องให้ต่างชาติมาลงทุน 

สำหรับเรื่องของนโยบายภาษี และค่าแรงจะเป็นอุปสรรคให้ต่างชาติตัดสินใจไม่เข้ามาลงทุนในไทยหรือไม่นั้น ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งเพราะต่างชาติเวลาจะลงทุนเขาจะมองหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าแรง เรื่องทักษะแรงงาน โปรดักทริวิตี้ รวมถึงเรื่องของระบบลอจิสติกส์ รวมถึงเมื่อผลิตสินค้าไปแล้วส่งไปขายประเทศไหนได้บ้างซึ่งนั่นก็คือ เอฟทีเอ มีข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศกับใครบ้าง ทุกเรื่องล้วนแต่เป็นพื้นฐานสำคัญในการตัดสินใจ

ทั้งนี้ จากการพูดคุยกันเรื่องของค่าแรงนั้น ได้รับคำตอบที่น่าพอใจซึ่งหลังจากนี้จะมีการตั้งคณะทำงานระหว่างพรรคก้าวไกลและภาคเอกชน ทั้งสภาหอการค้า สภาอุตฯ ส่วนที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ที่จะต้องมาพูดคุยกันว่าจะมีวิธีเดินไปข้างหน้ากับเรื่องนี้ได้อย่างไรซึ่งต้องใช้เวลาอีกสักพักเพราะต้องมีการคุยในเรื่องของรายละเอียดเชิงลึกกันต่อไป 

อย่างไรก็ดี ไม่ควรขึ้นแบบกระชากทันที 450 บาทเพราะด้วยเงื่อนไขของเวลา และภาวะเศรษฐกิจ ณ ปัจจุบันที่ยังไม่สามารถทำได้ทันทีทันใดแต่ระยะถัดไปถ้าเศรษฐกิจไทยดีขึ้นก็มีโอกาส ทุกครั้งที่จะขึ้นค่าแรง เรามีผลผลิต ชิ้นงานเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับต้นทุนที่มันเพิ่มขึ้นและทุกฝ่ายอยู่ได้เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ   

กรณียังไม่มีความชัดเจนในการฟอร์มรัฐบาลนั้น มีเงื่อนไขระยะเวลามีตัวล็อกอยู่แล้วว่า กกต.มีระยะเวลาในการพิจารณากี่วัน แต่ถ้าสามารถทำได้เร็วกว่าระยะเวลาที่กำหนดไว้ก็จะเป็นเรื่องดี ที่สำคัญอย่าไปเกินระยะเวลาที่ตั้งไว้

ทุกขั้นตอนถ้าอยู่ในเงื่อนไขเวลา และไม่เกินเงื่อนไขนั้น ยังอยู่ในภาพที่เราประเมินไว้เบื้องต้นแล้ว กรณีถ้ายืดเยื้อออกไปย่อมส่งผลกระทบกับประชาชน เช่น ถ้ายาวไปจนเลยปีงบประมาณ แม้ว่าจะมีกฎหมายระบุว่า ใช้งบประมาณไปพลางก่อนแต่ก็ไม่สามารถที่จะไปบูสต์ ทำอะไรได้เต็มที่ ดีที่สุด คือ เป็นไปตามจังหวะที่ถูกต้องของระบบ

สำหรับช่วงนี้เศรษฐกิจอยู่ในช่วงของภาวะชะลอตัวของประเทศที่เป็นคู่ค้าของเราซึ่งต้องรีบเข้ามาดูแลแต่โดยภาพรวมแล้วก็ยังเห็นว่า ยังเดินหน้าต่อไปได้