ภายหลัง รถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าระบบโมโนเรลไร้คนขับสายแรกของไทย ได้ฤกษ์เปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการฟรี 30 วัน เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา ไปถึงวันที่ 30 มิถุนายน นี้ ซึ่งมีผู้เข้าไปทดลองใช้กันอย่างคึกคัก แต่อย่างไรก็ดียังมีรถไฟฟ้าอีกสายที่เป็นเสมือนคู่แฝด นั่นคือ “รถไฟฟ้าสายสีชมพู” ซึ่งหลายคนก็รอลุ้นว่าเมื่อไหร่ถึงจะได้เปิดใช้บริการ
ความคืบหน้ารถไฟฟ้าสายสีชมพู
เมื่อไม่นานมานี้ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ออกมาระบุว่า ข้อมูลโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี ณ สิ้นเดือนเมษายน 2566 สรุปได้ดังนี้
1. สายสีชมพู เส้นทางแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 30.50 กิโลเมตร ความก้าวหน้าการก่อสร้างรวมคืบหน้าแล้ว 96.43% โดยงานความก้าวหน้างานโยธา คืบหน้า 96.19% และ ความก้าวหน้างานระบบรถไฟฟ้า คืบหน้า 96.64%
2. สายสีชมพู ส่วนต่อขยายช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี ระยะทาง 3 กม. ความคืบหน้าโครงการโดยรวม 20.41%
รถไฟฟ้าสายสีชมพู เปิดเมื่อไหร่
ก่อนหน้านี้ นายกิตติกร ตันเปาว์ รองผู้ว่าการ (วิศวกรรมและก่อสร้าง) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในฐานะผู้อำนวยการโครงการ แจ้งว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี ปัจจุบันมีความก้าวหน้าการก่อสร้างงานโยธาใกล้แล้ว
โดยผู้รับสัมปทานได้แจ้งแผนการเปิดให้บริการ คาดว่า จะสามารถเริ่มทดลองการเดินรถได้ในเดือนมกราคม 2567 และมีกำหนดการเปิดให้บริการเดินรถตลอดเส้นทางภายในเดือนมิถุนายน 2567
ปัจจุบัน โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ได้เริ่มคืนผิวจราจรตามแนวเส้นทางโครงการฯ แล้ว ประกอบด้วย ถนนรามอินทรา ผู้รับจ้างได้ดำเนินการซ่อมแซม ปรับปรุงสภาพพื้นผิวถนนให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน มีความก้าวหน้าคิดเป็น 21.26%
ยกเว้นบริเวณแนวสายทางระหว่างสถานีมัยลาภ และสถานีวัชรพล ที่ยังอยู่ในระหว่างการเร่งดำเนินการคืนผิวจราจร สำหรับถนนแจ้งวัฒนะ ผู้รับจ้างได้ดำเนินการคืนผิวจราจร คิดเป็น 16.62% ถนนติวานนท์ คิดเป็น 12.24% และถนนสีหบุรานุกิจ คิดเป็น 28.57%
รู้จักรถไฟฟ้าสายสีชมพู
โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี เป็นระบบขนส่งมวลชนสายรองประเภทรถไฟฟ้ารางเดี่ยวแบบคร่อมราง (Straddle Monorail) สายแรกของประเทศไทย ก่อสร้างเป็นทางยกระดับตลอดเส้นทาง รวมระยะทางประมาณ 34.5 กิโลเมตร จำนวน 30 สถานี ซึ่งแนวเส้นทางรถไฟฟ้าจะผ่านที่พักอาศัย สถานที่ราชการ รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษา โรงพยาบาล และศูนย์การค้าหลายแห่ง
เมื่อสร้างแล้วเสร็จโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู จะช่วยรองรับการเดินทางในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ช่วยบรรเทาปัญหาด้านการจราจรและลดปัญหาด้านมลพิษในเขตเมือง ช่วยกระจายความเจริญจากในเมืองไปสู่ชานเมือง อีกทั้งยังเชื่อมต่อกับระบบขนส่งอื่นๆ ให้ต่อเนื่องกันเป็นระบบและครบวงจร
โดยมูลค่าโครงการนั้น ครม.ได้มีมติ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 ให้ รฟม. ดำเนินงานรถไฟฟ้าสายสีชมพูในรูปแบบ PPP Net Cost โดยภาครัฐเป็นผู้ลงทุนค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และภาคเอกชนลงทุนค่างานโยธา ค่างานระบบรถไฟฟ้า ขบวนรถไฟฟ้า และค่าจ้างที่ปรึกษาโครงการ รวมทั้งบริหารเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการ วงเงินลงทุน 53,490 ล้านบาท โดยให้เอกชนร่วมลงทุนรวมเป็นเวลา 33 ปี 3 เดือน (ระยะเวลาการก่อสร้าง 3 ปี 3 เดือน และระยะเวลาเดินรถ 30 ปี)
เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีชมพู
โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี มีระยะทางประมาณ 34.5 กิโลเมตร โดยมีจุดเริ่มต้นบนถนนรัตนาธิเบศร์บริเวณด้านหน้าศูนย์ราชการจังหวัดนนทบุรี จากนั้นแนวเส้นทางจะเลี้ยวซ้ายบริเวณแยกแครายเข้าสู่ถนนติวานนท์และวิ่งตามถนนติวานนท์ผ่านหน้าสถาบันโรคทรวงอกแยกสนามบินน้ำและวัดชลประทานรังสฤษดิ์ จนถึงบริเวณ 5 แยกปากเกร็ด
จากนั้นเลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนแจ้งวัฒนะผ่านศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ผ่านทางด่วนขั้นที่ 2 (ศรีรัช) ผ่านศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ผ่านแยกหลักสี่ โดยลอดใต้ทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลเวย์) ข้ามแยกหลักสี่และผ่านวงเวียนอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ
จากนั้นแนวเส้นทางจะวิ่งตามถนนรามอินทราและยกระดับข้ามทางด่วนพิเศษฉลองรัชที่บริเวณแยกวัชรพลแล้ววิ่งไปจนถึงแยกมีนบุรี จากนั้นวิ่งเข้าเมืองมีนบุรีตามถนนสีหบุรานุกิจ ข้ามคลองสามวาและเลี้ยวขวาข้ามคลองแสนแสบผ่านพื้นที่ว่างและเข้าสู่ถนนรามคำแหง (สุขาภิบาล 3) โดยมีจุดสิ้นสุดโครงการที่ทางแยกร่มเกล้าบริเวณซอยรามคำแหง 192 รวมมีสถานีรับส่งผู้โดยสาร 30 สถานีและศูนย์ซ่อมบำรุงและอาคารจอดแล้วจร 1 แห่ง
การเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายอื่น
โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี รวมระยะทางประมาณ 34.5 กิโลเมตร มีจุดเชื่อมต่อโครงข่ายรถไฟฟ้าสายอื่น ๆ ที่สามารถเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสารระหว่างโครงการ 4 จุด ดังนี้
สถานีรถไฟฟ้าสายสีชมพู
โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทางประมาณ 34.5 กิโลเมตร มีสถานีรับส่งผู้โดยสาร 30 สถานี ดังนี้