นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าในช่วงวิกฤตโควิด 19 ที่ผ่านมา SMEs ไทยได้รับผลกระทบอย่างมาก ในวันนี้เรามอง SMEs เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 คือ กลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตในช่วงที่ผ่านมา และไม่สามารถแข่งขันได้ หรือต้องปิดกิจการไป แต่ก็ยังต้องการกลับมาดำเนินธุรกิจในอนาคต
กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่ยังดำเนินกิจการอยู่ แต่ไม่มีความเข้มแข็ง ขาดทั้งทุน ขาดเทคโนโลยี ขาดแนวทางการบริหารจัดการเบื้องต้น ซึ่งกลุ่มนี้ หอการค้าฯ พยายามผลักดันกับรัฐบาล มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เห็นความสำคัญและเกิดมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ โดยเฉพาะการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อให้กลุ่มนี้สามารถลุกขึ้นมาแข่งขันได้ต่อไป
กลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่ม SMEs ที่มีความเข้มแข็งในธุรกิจ มี Product ที่ชัดเจน และอยู่ในช่วงที่จะขยายกิจการ หรือต้องการเพิ่มช่องทางการขยายตลาดใหม่ ๆ โดยเฉพาะใน Modern Trade
ดังนั้นปีนี้ซึ่งเป็นปีเฉลิมฉลอง 90 ปี หอการค้าไทย ซึ่งเน้นการขับเคลื่อนองค์กรและเศรษฐกิจประเทศ ภายใต้แนวคิด Connect - Competitive - Sustainable โดยเฉพาะประเด็นด้าน Competitive ที่หอการค้าไทยให้ความสำคัญกับการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของ SMEs ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์หลักประการหนึ่งของโครงการ Business Accelerator ที่มุ่งเน้นการเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการ SMEs ในการยกระดับธุรกิจและพัฒนาสินค้า เพื่อมุ่งสู่ช่องทางการขายกับ Modern Trade
สำหรับโครงการ Business Accelerator จะมาตอบโจทย์และช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการได้ทั้ง 3 กลุ่ม คนกลุ่มแรก อาจจะต้องการการปูพื้นความรู้ใหม่ สร้างความเข้าใจจนรากฐานมีความมั่นคง แล้วค่อยต่อยอดไปในระดับที่สูงขึ้น กลุ่มที่ 2 เป็นการเติมเครื่องมือบางอย่างที่ยังขาด เติมมุมมอง ปรับกระบวนการ เพื่อการเติบโตในอนาคต ส่วนกลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มที่พร้อมจะก้าวกระโดดแล้ว แต่อาจจะยังขาดผู้รู้หรือพี่เลี้ยงที่มีประสบการณ์ มาช่วยเติมเต็ม ให้ข้อคิด และเทคนิคในการบริหารขั้นสูง เพื่อมุ่งสู่ Modern Trade หรือขยายไปยังตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น
นายพลิษศร์ ภิรมย์ภักดี รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการเพิ่มความเข้มแข็งให้สมาชิก กล่าวว่า โครงการ Business Accelerator ริเริ่มมาจากการที่หอการค้าไทย ร่วมกับ บริษัทพันธมิตรเห็นถึงความสำคัญในการบ่มเพาะผู้ประกอบการ เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมก่อนการขยายช่องทางการขายกับ Modern Trade เป็นระยะเวลา 4 เดือน และเมื่อผู้ประกอบการมีความพร้อมอย่างเต็มที่แล้ว ก็จะได้รับโอกาสเข้าร่วมกิจกรรม Pitching เพื่อซักซ้อมการนำเสนอสินค้าเสมือนจริงกับ Modern Trade ต่าง ๆ ซึ่งที่ผ่านมา เรามีผู้ประกอบการจากโครงการฯ เข้าไปขายใน Modern Trade แล้วหลายราย จึงถือว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่สร้างความเข้มแข็งให้กับสมาชิกผู้ประกอบการ ตลอดจนสร้างโอกาสในการขยายตลาดที่กว้างมากยิ่งขึ้นได้เป็นอย่างดี
นายปิยะวัฒน์ ฐิตะสัทธาวรกุล กรรมการบริหารหอการค้าไทย และ รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จํากัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการ Business Accelerator ที่ผ่านมา 3 รุ่น เราบ่มเพาะผู้ประกอบการไปมากกว่า 190 บริษัท ผลักดันเข้าสู่ช่องทางการเจรจาทางการค้ากับ Modern Trade ได้มากกว่า 30 บริษัท ถือเป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการ SMEs เพราะจะเป็นการขยายตลาดให้กว้างมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะหลังจากสถานการณ์โควิดที่มีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ ผู้ประกอบการ SMEs จึงจำเป็นต้องแสวงหาทางเลือกอื่น เพื่อให้ธุรกิจยังคงดำเนินต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่เข้าใจว่า การจะเข้าสู่ตลาด Modern Trade ได้นั้น จะต้องพบกับเรื่องอะไรหรือต้องเตรียมรับกับเรื่องอะไรบ้าง หากขาดความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้ ก็อาจจะไม่ประสบความสำเร็จในช่องทางดังกล่าวได้ โครงการนี้จะเป็นการเปิดมุมมองในทุกมิติให้กับผู้ประกอบการได้เข้าใจได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น
“การ Kickoff รุ่นที่ 4 โดยเพิ่มความเข้มข้นในเนื้อหาหลักสูตรมากยิ่งขึ้น เสริมในส่วนของประสบการณ์ตรงจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิในภาคธุรกิจจริง และยังเพิ่มเติมแนวทางจากการถอดบทเรียน โดยรุ่นพี่ ของโครงการที่จบหลักสูตรไปแล้ว มาถ่ายทอดแนวความคิด และวิธีการพัฒนาศักยภาพให้กับเพื่อน SMEs ในรุ่นที่ 4 อีกด้วย”