ลุ้นครม.ชุดใหม่ เคาะร่างพ.ร.บ.ขนส่งทางราง ออกใบขับขี่รถไฟ-รถไฟฟ้าดิจิทัล

07 มิ.ย. 2566 | 05:36 น.
อัปเดตล่าสุด :07 มิ.ย. 2566 | 05:36 น.

"กรมขนส่งทางราง" เปิดรับฟังความเห็น รอบ 2 ลุยศึกษาออกใบขับขี่รถไฟ-รถไฟฟ้า ผ่านระบบดิจิทัล เล็งชงครม.ชุดใหม่ เคาะร่างพ.ร.บ.ขนส่งทางราง พ.ศ. ... เสนอสภาฯ คาดมีผลบังคับใช้ภายในปลายปี66-ต้นปี 67

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดสัมมนาโครงการศึกษาออกแบบ และพัฒนาระบบฐานข้อมูลผู้ประกอบการและการออกใบอนุญาตด้านการขนส่งทางรางผ่านระบบดิจิทัล (e-License R) ครั้งที่ 2 ว่า การสัมมนาในครั้งนี้ เพื่อรายงานความคืบหน้าของโครงการฯ

พร้อมรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อนำไปประกอบการศึกษาของโครงการ รวมทั้งการออกใบอนุญาตด้านการขนส่งทางรางผ่านระบบดิจิทัล และในส่วนของตราสัญลักษณ์ที่ไก้รับการคัดเลือกนั้น จะนำไปใช้เป็น ไอคอน ของแอพพลิเคชั่นใบอนุญาตด้านการขนส่งทางรางผ่านระบบดิจิทัล บนมือถือในระบบปฏิบัติการ iOS และ Android

  ลุ้นครม.ชุดใหม่ เคาะร่างพ.ร.บ.ขนส่งทางราง ออกใบขับขี่รถไฟ-รถไฟฟ้าดิจิทัล

หลังจากนี้กรมฯ จะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็น โครงการศึกษาออกแบบ และพัฒนาระบบฐานข้อมูลผู้ประกอบการและการออกใบอนุญาตด้านการขนส่งทางรางผ่านระบบดิจิทัล (e-License R) ครั้งที่ 3 ภายในปลายเดือนส.ค.2566 เพื่อสรุปโครงการฯอีกครั้ง

นายพิเชฐ กล่าวต่อว่า ในช่วงที่ผ่านมา กรมฯได้เสนอ ร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. .... ต่อสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ปัจจุบันร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวเตรียมเข้าสู่การพิจารณาในวาระ 2 โดยหลังจากนี้กรมฯ จะดำเนินการเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ใช้ในปัจจุบัน มาตรา 153 ระบุว่า สามารถส่งร่าง พ.ร.บ.ที่รอการพิจารณาค้างไว้ เสนอกลับเข้าไปเพื่อดำเนินการต่อในวาระที่ 2

โดยให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ร้องขอไปที่สภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ภายใน 60 วัน นับจากวันที่มี ครม.ใหม่ แต่หากไม่ทันภายใน 60 วัน จะต้องนำร่างพ.ร.บ.ขนส่งทางรางฯ กลับไปเริ่มต้นขั้นตอนเสนอ ครม.พิจารณา โดยคาดว่าจะดำเนินได้ หลังจัดตั้งรัฐบาลใหม่ภายในเดือน ส.ค.-ก.ย. 2566

ลุ้นครม.ชุดใหม่ เคาะร่างพ.ร.บ.ขนส่งทางราง ออกใบขับขี่รถไฟ-รถไฟฟ้าดิจิทัล

"กรมฯคาดว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว จะมีผลบังคับใช้ภายในปลายปี 2566 หรือต้นปี 2567 ซึ่งกรมฯมั่นใจว่า หากกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้วจะทำให้อุบัติเหตุเป็นศูนย์ได้ภายใน 3-5 ปี"

นอกจากนี้โอเปอเรเตอร์ ต้องส่งข้อมูลต่างๆ ให้ ขร. ตรวจสอบเมื่อใบอนุญาตหมดอายุ และต้องต่ออายุใหม่ อาทิ ผลการตรวจตาบอดสี สุขภาพจิต สมรรถนะทางการได้ยิน และผลตรวจสารเสพติด เป็นต้น แต่ ขร. ต้องดำเนินการ เพราะในอนาคต ระบบขนส่งทางรางจะเปิดให้บริการเพิ่มมากขึ้น ทำให้จะมีขบวนรถ เจ้าหน้าที่ และอาจมีผู้ประกอบการรายใหม่เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นจึงต้องมีการควบคุม เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการปฏิบัติงานเป็นไปตามมาตรฐานสากล มีการบริการที่ดี และเกิดความปลอดภัยต่อผู้ใช้บริการ

ลุ้นครม.ชุดใหม่ เคาะร่างพ.ร.บ.ขนส่งทางราง ออกใบขับขี่รถไฟ-รถไฟฟ้าดิจิทัล

นายพิเชฐ กล่าวต่อว่า ขณะนี้โครงข่ายทางรถไฟทั่วประเทศของการรถไฟแห่งประเทศไทย มีระยะทางประมาณ 4,044 กิโลเมตร ในส่วนของรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานคร สายสีต่างๆ 11 สายทาง คิดเป็นระยะทางประมาณ 211 กิโลเมตร รวมกันสองระบบประมาณ 4,255 กิโลเมตร ตัวเลขที่กล่าวมานี้ ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น การขนส่งทางรางจึงถือเป็นทางเลือกในการเดินทางแห่งอนาคต และได้มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางรางหลายโครงการ

 

 ในปัจจุบันมีโครงการรถไฟทางคู่อยู่ระหว่างการก่อสร้างอยู่ถึง 4 โครงการ รวมระยะทางกว่า 613 กิโลเมตร โครงการทางคู่เฟสสองอยู่ระหว่างรอเสนอรัฐบาลใหม่ 7 โครงการ ระยะทาง 1,479 กิโลเมตร ยังไม่รวมรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง 6 โครงการ และรถไฟความเร็วสูงอีก 2 โครงการ

ลุ้นครม.ชุดใหม่ เคาะร่างพ.ร.บ.ขนส่งทางราง ออกใบขับขี่รถไฟ-รถไฟฟ้าดิจิทัล

  สำหรับใบอนุญาต แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1.ใบอนุญาตสำหรับผู้ประกอบกิจการขนส่งทางราง ปัจจุบันมีไม่เกิน 10 ราย โดยใบอนุญาตมีอายุเท่ากับอายุสัมปทานที่ผู้ประกอบการได้รับ, 2.ใบอนุญาตสำหรับผู้ประจำหน้าที่ อาทิ พนักงานขับรถไฟ/รถไฟฟ้า/รถไฟความเร็วสูง และพนักงานควบคุมการเดินรถ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่รวมประมาณ 2,000 คน โดยใบอนุญาตมีอายุ 5 ปี และ 3.ใบอนุญาตสำหรับรถขนส่งทางราง ซึ่งผู้ประกอบการต้องนำข้อมูล อาทิ รถไฟ/รถไฟฟ้า/รถราง มีตู้กี่ตู้ มาจดทะเบียนทั้งหมด ปัจจุบันมีประมาณ 10,200 ตู้ โดยใบอนุญาตมีอายุ 8 ปี ทั้งนี้ หาก ขร. พบว่าผู้ประกอบการฯ พนักงานขับรถ และรถขนส่งทางราง ไม่มีใบอนุญาต จะมีบทลงโทษทั้งจำและปรับ