นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบัน AI (Artificial Intelligence) หรือปัญญาประดิษฐ์ ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการทำธุรกิจของภาคเอกชนในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่เป็นยุคของการเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นดิจิทัล การนำระบบ AI มาปรับใช้ในการทำธุรกิจช่วยให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น
เพราะ AI เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ได้รับความสนใจอย่างมาก โดยเมื่อปลายปี 2565 มีการเปิดตัว AI ที่ชื่อว่า ChatGPT ที่ทั่วโลกให้ความสนใจ เนื่องจาก AI ดังกล่าวมีความสามารถในการวิเคราะห์ตอบโต้ได้ใกล้เคียงกับมนุษย์ด้วยการเรียนรู้ข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต
โดยมีการใช้ AI ในการหาข้อมูลและเขียนบทความ รวมถึงการใช้งานAI อื่น ๆ ในการสร้างภาพศิลปะ หรือสร้างบทเพลงตามคำสั่งผู้ใช้งานได้ในเวลาอันสั้น ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวทำให้สามารถหาข้อมูล เขียนบทความ หรือสร้างผลงานต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ แม้ AI จะมีความก้าวหน้า และเกิดประโยชน์ แต่ก็พบว่ารัฐบาลของหลายประเทศ ต่างมีข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับการควบคุมเทคโนโลยีดังกล่าวไม่ให้ส่งผลเสียต่อสิทธิและความปลอดภัยส่วนบุคคล เนื่องจากการใช้ AI แม้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้งานในการทำงานและการศึกษาเรียนรู้ แต่อาจจะเป็นภัยด้านการละเมิดลิขสิทธิ์และความเป็นส่วนตัวได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น สหภาพยุโรป เป็นกลุ่มประเทศแรกที่มีความพยายามจะออกกฎหมายควบคุมดูแลการใช้งาน AI
โดยมีรายงานว่า เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2566 คณะกรรมการของรัฐสภายุโรปบางส่วน ได้รับรองร่างกฎหมาย Artificial Intelligence Act (AI Act) ที่กำกับดูแลการใช้งาน AI แล้ว โดยคาดว่าจะมีผลบังคับใช้อย่างเร็วที่สุดในปี 2568 ซึ่งเนื้อหาสำคัญของกฎหมาย ครอบคลุมถึงการสั่งห้ามใช้งาน AI เช่น AI ที่เก็บและวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมของบุคคล (social scoring) เทคโนโลยีชีวมิติ (Biometric technology) ที่มี
การตรวจจับใบหน้าเพื่อสร้างฐานข้อมูล นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มเติมกฎระเบียบที่กระทบต่อ AI ที่ใช้สร้างเนื้อหา หรือ Generative AI เช่น ChatGPT โดยกำหนดให้ต้องเปิดเผยรายละเอียดข้อมูลที่ใช้ฝึกฝน AI ว่าไม่มีข้อมูลที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์
ส่วนประเทศอื่น ๆ ในยุโรป เช่น “สหราชอาณาจักร” ได้เผยแพร่เอกสารรายงาน (White Paper)ในเดือนมีนาคม 2566 โดยให้ข้อเสนอต่อการร่างกฎหมาย AI ซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับการสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรม และการมีกรอบกฎหมายที่จัดการกับความเสี่ยงในการใช้งานโดยไม่ขัดขวางการพัฒนาดังกล่าวในขณะที่ “อิตาลี” ห้ามการใช้งาน ChatGPT ชั่วคราว เนื่องจากมีข้อกังวลเรื่องการละเมิดความเป็นส่วนตัว รวมทั้ง คณะกรรมาธิการด้านการป้องกันข้อมูลของเยอรมนีให้ข้อมูลว่า เยอรมนีอาจพิจารณาออกกฎหมายควบคุม AI ในลักษณะเดียวกัน
ด้าน “สหรัฐอเมริกา” มีการเชิญผู้บริหาร Google , Microsoft และ OpenAI เข้าพบเพื่อหารือเรื่องความรับผิดชอบในการพัฒนา AI โดยขอให้ผู้บริหารบริษัทชั้นนำดังกล่าวช่วยกันปกป้องประชาชนจากภัยของปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งนางคามาลา แฮร์ริส (Kamala Harris) รองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกากล่าวหลังการหารือว่า ปัญญาประดิษฐ์อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความปลอดภัย ความเป็นส่วนตัว และสิทธิมนุษยชน แต่ในขณะเดียวกันก็มีศักยภาพในการพัฒนาคุณภาพชีวิต นางแฮร์ริสยังกล่าวอีกว่า ภาคเอกชนต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบทางจริยธรรม ศีลธรรม และกฎหมายที่ต้องทำให้แน่ใจว่าผลิตภัณฑ์ที่ออกมานั้นมีความปลอดภัยและมั่นคง
ขณะที่ “จีน” ห้ามใช้งาน ChatGPT และกำหนดให้แอปพลิเคชันและเว็บไซต์ในจีนยุติบริการต่าง ๆ ที่เปิดทางให้ประชาชนสามารถเข้าใช้บริการ ChatGPT เนื่องจากวิตกกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยด้านเนื้อหา (content) และข้อมูล โดยรัฐบาลจีนจะผลักดันให้มีการประยุกต์ใช้บริการ AI แต่จะต้องเป็นไปอย่างปลอดภัยและควบคุมได้ โดยนายหวัง จื้อกัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์จีนกล่าวว่า ทางกระทรวงฯ จะคอยติดตามวิวัฒนาการของ AI ต่อไปในระยะยาว เพื่อทำความเข้าใจต่อข้อกังวลด้านจริยธรรมเกี่ยวกับ AI และเทคโนโลยีล้ำสมัยอื่น ๆ ให้ดียิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตามสนค. มีข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวโน้มต่อเศรษฐกิจการค้าของไทยใน 2 มิติ คือ การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี AI เพื่อยกระดับคุณภาพและประสิทธิภาพการผลิตสินค้าและบริการของไทยให้มีมูลค่าสูง โดยภาคเอกชนสามารถนำ AI ที่มีในปัจจุบันมาประยุกต์ใช้ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและลดอุปสรรคในการทำธุรกิจ โดยสามารถนำเทคโนโลยีดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ได้ในงานหลากหลายประเภท เช่น การทำการตลาดที่ออกแบบเฉพาะบุคคล (Personalized Marketing) การค้นหาและวิเคราะห์ข้อมูลที่ซับซ้อน เพื่อการขายหรือการบริการลูกค้า การจัดการคลังสินค้าอย่างเป็นระบบ การวิจัย
และพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า การสร้างเนื้อหา (Content) เป็นบทความที่น่าสนใจและดึงดูดใจผู้อ่าน และการสำรวจพฤติกรรมลูกค้าผ่านระบบ Facial Recognition และ 2) การเตรียมพร้อมรับมือกับมาตรการและกฎระเบียบการควบคุมการใช้เทคโนโลยี AI ของประเทศต่าง ๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าและบริการ รวมทั้งกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานของไทยในอนาคต โดยเฉพาะมาตรการควบคุมและการกำกับดูแลการใช้เทคโนโลยี AI ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นต่างๆ อาทิ จริยธรรม การละเมิดความเป็นส่วนตัว การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งจะกลายเป็นมาตรการด้านการค้าในอนาคต
“นโยบายและท่าทีของประเทศมหาอำนาจต่อ AI เหล่านี้ มีผลต่อทิศทางการพัฒนาและการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในอนาคต ตลอดจนกฎระเบียบหรือมาตรการควบคุม AI ในประเทศต่าง ๆ อาจมีผลต่อห่วงโซ่การผลิตสินค้าและบริการของไทย ดังนั้น ภาครัฐและภาคเอกชนจึงควรติดตามพัฒนาการด้านกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไปอย่างใกล้ชิด เพื่อให้แน่ใจว่าเทคโนโลยีที่ใช้อยู่ในปัจจุบันไม่ได้เป็นเทคโนโลยีที่มีการสั่งห้ามใช้งานในประเทศที่จะเข้าไปทำการค้าการลงทุนระหว่างกัน"