นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยถึงกรณีที่มีข่าวว่าบริษัท พานาโซนิค อีโคโลจี ซีสเต็มส์ จังหวัดสมุทรปราการ ปิดตัวในเดือนมิถุนายน 2566 ว่า บีโอไอได้รับแจ้งจากผู้บริหารของบริษัทฯ ว่าเป็นส่วนหนึ่งของแผนการปรับโครงสร้างและกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจของบริษัทแม่ที่ประเทศญี่ปุ่น
โดยจะควบรวมโรงงานที่มีผลิตภัณฑ์ในลักษณะเดียวกันรวมไว้ที่โรงงานขนาดใหญ่ และปิดโรงงานขนาดเล็ก ทำให้ในส่วนของประเทศไทย จะมีการปิดโรงงานขนาดเล็ก แต่ขณะเดียวกันก็จะมีการลงทุนเพิ่มเติมในอีกหลายผลิตภัณฑ์
ทั้งนี้ ปัจจุบันกลุ่มพานาโซนิค ประเทศไทย มีทั้งสิ้น 11 โรงงาน เป็นโรงงานขนาดใหญ่ 4 แห่ง คิดเป็นสัดส่วนยอดขาย 80% ของทั้งกลุ่ม และมีโรงงานขนาดเล็ก 7 แห่ง คิดเป็นสัดส่วนยอดขาย 20% ของทั้งกลุ่ม
อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ปี 2563 โรงงานขนาดเล็กในไทย 3 แห่ง ทยอยปิดตัวลง เพื่อย้ายไปรวมกับโรงงานที่มีขนาดใหญ่กว่าในผลิตภัณฑ์เดียวกัน สำหรับโรงงานที่ได้ปิดตัวลงในเดือนมิถุนายนนี้ เป็นโรงงานขนาดเล็กแห่งที่ 4 ผลิตพัดลมระบายอากาศ ภายใต้ชื่อบริษัท พานาโซนิค อีโคโลจี ซีสเต็มส์ ส่วนโรงงานขนาดเล็กที่เหลืออีก 3 แห่ง เป็นโรงงานสำคัญที่ยังผลิตสินค้าอย่างต่อเนื่อง
สำหรับโรงงานขนาดใหญ่ที่อยู่ในประเทศไทยทั้ง 4 แห่ง ซึ่งผลิตระบบ Infotainment ในยานยนต์ ถ่านไฟฉาย และอุปกรณ์อุตสาหกรรม ยังเดินหน้าการผลิตและขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยมีการปิดโรงงานในต่างประเทศเพื่อมาใช้กำลังการผลิตในประเทศไทยด้วย
ล่าสุด บริษัท พานาโซนิค อินดัสเตรียล ดิไวซ์ ซังค์ ประเทศญี่ปุ่นและประเทศจีน ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วน Electronic Measuring Instrument และอุปกรณ์อัตโนมัติ เช่น Programmable Logic Controller (PLC) ซึ่งเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อนและทักษะแรงงานสูง ได้ย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย ทำให้มีการใช้วัตถุดิบและจ้างแรงงานในประเทศไทยจำนวนมาก
นอกจากนี้ ได้มีการขยายกำลังการผลิตผลิตภัณฑ์ Automotive Switch ที่จังหวัดขอนแก่น รวมทั้งในประเทศไทยมีสำนักงานภูมิภาคในธุรกิจผลิต Switch, LED, Lighting และมีศูนย์วิจัยและพัฒนาของบริษัทในส่วนผลิตภัณฑ์ Infotainment ในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ประเทศไทยด้วย
นายนฤตม์ กล่าวอีกว่า กลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายสำคัญที่ไทยต้องการดึงลงทุนเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทย และจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ทำให้อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีการย้ายฐานผลิตเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ซัพพลายเชน
ซึ่งหลังจากบีโอไอจัดกิจกรรมเชิงรุกเพื่อดึงการลงทุนตามนโยบายส่งเสริมการลงทุนใหม่ทั้งในประเทศและต่างประเทศในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา โดยได้เดินทางไปโรดโชว์ที่ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา จีน เกาหลีใต้ และยุโรป มีนักลงทุนให้ความสนใจและยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไออย่างต่อเนื่อง
“ที่ผ่านมา กลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ประสบปัญหาจากสงครามการค้าและความขัดแย้งระหว่างประเทศ ทำให้มีผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิต บริษัทข้ามชาติต่าง ๆ จึงต้องปรับกลยุทธทางธุรกิจ รวมทั้งต้องการควบรวมกิจการภายในบริษัทเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต"
ส่วนของกลุ่มพานาโซนิค จะเห็นว่าบริษัทได้เลือกประเทศไทยเป็นฐานการผลิตของกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีและทักษะในการผลิตสูง เช่น PLC อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับยานยนต์ หรือการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นที่มีต่อประเทศไทย โดยเฉพาะความพร้อมของซัพพลายเชน และความต่อเนื่องของการดำเนินธุรกิจ รวมถึงศักยภาพในการเติบโตของกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงที่จะเป็นฐานสำคัญของอุตสาหกรรมแห่งอนาคตอื่น ๆ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้าและดิจิทัล
ขณะที่ช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา (มกราคม – พฤษภาคม 2566) บีโอไอให้การส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์รวม 79 โครงการ มูลค่า 143,860 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 7 เท่าจากช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากโครงการลงทุนของพานาโซนิคแล้ว ยังมีโครงการลงทุนในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่น่าสนใจ เช่น กิจการผลิตชิ้นส่วนสำหรับระบบโทรคมนาคมแบบใยแก้วนำแสง และระบบชิพควบคุมระบบกำลัง (Power Chip) สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า จากประเทศจีนที่ตัดสินใจมาลงทุนในไทย