นายบุณย์ธีร์ พานิชประไพ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ธุรกิจบริการอาหารในโมร็อกโกเติบโตอย่างต่อเนื่องเฉลี่ย 5.87% ต่อปี และคาดการณ์ว่า ชาวโมร็อกโกจะใช้จ่ายไปกับอาหารและโรงแรมเพิ่มขึ้นเฉลี่ย3.9% ต่อปี (ระหว่างปี ค.ศ. 2022-2026) เนื่องจากพฤติกรรมของชาวโมร็อกโกเปลี่ยนแปลงไป ผู้บริโภคยุคใหม่มีเวลาในการทำอาหารที่บ้านน้อยลง
ผู้หญิงทำงานนอกบ้านมากขึ้น วัยแรงงานมีชั่วโมงทำงานที่ยาวนานขึ้น ต้องใช้เวลาเดินทางเพื่อมาทำงานนานขึ้น ขนาดครอบครัวเล็กลง จำนวนคนโสดมากขึ้น จึงทำให้ชาวโมร็อกโกมีความต้องการซื้อหรือสั่งอาหารนอกบ้านมารับประทานมากขึ้น
โดยเฉพาะในเมืองที่อยู่กันอย่างหนาแน่น เช่น คาซาบลังกา และราบัต ทำให้ธุรกิจบริการอาหาร ร้านอาหาร รวมทั้งบริการจัดส่งอาหาร ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น
จากรายงานของ Euromonitor International ชี้ว่า70% ของจำนวนร้านอาหารทั้งหมดในโมร็อกโก เป็นลักษณะคาเฟ่ รองลงมา21.4% เป็นลักษณะร้านฟาสต์ฟู้ด และอื่น ๆ คือ ร้านอาหารข้างถนน คีออส เป็นต้น อีกทั้งธุรกิจอาหารต่างชาติในโมร็อกโกกำลังได้รับความที่นิยม
โดยเฉพาะในหมู่ชาวโมร็อกโกที่มีฐานะ ซึ่งเลือกรับประทานในร้านอาหารที่มีระดับตามเมืองใหญ่ เช่น อาหารญี่ปุ่น ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในคาซาบลังกา ราบัต มาร์ราคิช และแทงเจียร์ รวมทั้งอาหารไทย แม้จะยังมีให้บริการไม่มากเท่าอาหารญี่ปุ่นหรืออาหารยุโรป แต่จัดอยู่ในร้านอาหารระดับหรู มีคุณภาพ และให้บริการแบบพรีเมียม
ทั้งนี้การส่งออกอาหารไทยไปยังโมร็อกโกถือเป็นโอกาสสำหรับผู้ส่งออกไทย ด้วยรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ของอาหารไทย มีศักยภาพที่จะเป็นที่นิยมในโมร็อกโก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกไทยจะต้องเอาชนะความท้าทายหลายประการ ซึ่งรวมถึงการสร้างการรับรู้ในอาหารไทยในหมู่ผู้บริโภคชาวโมร็อกโก เครือข่ายการจัดจำหน่ายที่มั่นคง และมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหารของโมร็อกโก โดยควรทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้นำเข้าในด้านกฎระเบียบทางการค้ารวมถึงศึกษาความนิยมของผู้บริโภคในการเปิดตลาดโมร็อกโก
“อาหารไทย เป็นหนึ่งใน ซอฟต์พาวเวอร์ ที่กระทรวงพาณิชย์ เร่งผลักดันนโยบาย อาหารไทย อาหารโลก รองรับความต้องการอาหารของตลาดโลก ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากร โดยส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ทำให้ผู้คนทั่วโลกรู้จัก และชื่นชอบอาหารไทย ที่ผ่านมาได้จัดงาน THAIFEX - ANUGA ASIA 2023 มีผู้เข้าชมงานกว่า 130,000 คนจากทั่วโลก และมีการเจรจาการค้ากับผู้ประกอบการด้านอาหาร และเครื่องดื่มของไทย มีเม็ดเงินสะพัดกว่า 120,000 ล้านบาท”