การประชุมครม. วานนี้ มีวาระน่าสนใจหลังกระทรวงมหาดไทย โดยกรุงเทพมหานคร (กทม.) ชงรายงานความคืบหน้าการดำเนินโครงการ รถไฟฟ้าสายสีเขียว เข้ามาให้ที่ประชุมรับทราบ หลังจาก กทม. ไปหารือข้อสงสัยประเด็นต่าง ๆ ของกระทรวงคมนาคม โดยผ่านการพิจารณาจาก นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และมีแนวทางการดำเนินโครงการสรุปมายังมหาดไทย เพื่อเสนอเข้ามาในที่ประชุมครม. รับทราบ
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า วาระนี้แม้ว่าจะไม่มีรัฐมนตรีคนไหนให้ความเห็น แต่ก็ใช้เวลารายงานพักใหญ่ โดยมี “บิ๊กป๊อก” พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นคนรายงาน พร้อมกับตัวแทนของกทม. มาร่วมชี้แจงรายละเอียด
เนื้อหาสำคัญ ผู้ว่าฯ กทม. ได้รายงานข้อเสนอถึงแนวทางการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว 3 ข้อ ผ่านกระทรวงมหาดไทย ดังนี้
ครม.ส่งต่อรถไฟฟ้าสายสีเขียว กทม.ชง PPP ของบใช้หนี้ 7.8 หมื่นล้าน
1. กทม. เห็นพ้องด้วยกับนโยบายการลดภาระค่าใช้จ่ายการเดินทางของประชาชนและทำให้การบริการสาธารณะเป็นไปอย่างต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกัน (Through Operation) จึงเห็นควรขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล สำหรับโครงสร้างพื้นฐานและงานติดตั้งระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) ของโครงการรถไฟฟ้าที่อยู่ในกำกับดูแลของกทม. เช่นเดียวกับโครงการรถไฟฟ้าสายอื่นที่รัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการ
ทั้งนี้เพื่อให้ค่าโดยสารอยู่ในระดับที่ประชาชนสามารถรับภาระค่าใช้จ่ายได้ โดยเฉพาะส่วนต่อขยายที่ 2 คือ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ที่เป็นส่วนต่อขยายพื้นที่ให้บริการนอกเขตกทม. และยังมีผู้โดยสารจำนวนไม่มาก
2. กทม. เห็นควรที่จะดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 หรือ PPP เพื่อให้การพิจารณาคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนมีความรอบคอบ มีการพิจารณาข้อมูลรอบด้านและตรวจสอบได้ เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะในการได้รับการบริการของรัฐอย่างมีประสิทธิภ
3. จากกรณีที่คณะกรรมการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2562 เรื่อง การดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ลงวันที่ 11 เมษายน 2562 ได้เจรจากับบริษัทเอกชนไว้ว่า บริษัท จะเป็นผู้รับภาระส่วนต่างค่าเดินรถที่ค้างจ่ายอยู่ทั้งหมด
กทม. จึงได้หยุดชำระค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2562 นับถึงปัจจุบันเป็นเวลานาน 4 ปี ก่อให้เกิดภาระต่อเอกชนผู้ให้บริการ รวมถึงมีภาระดอกเบี้ยที่อาจจะเกิดขึ้นกับกทม. ในอนาคต การหาข้อยุติตามการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวของครม. จะช่วยทำให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินการต่อของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์สูงสุดของทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนซึ่งเป็นผู้ใช้บริการสาธารณะ
พร้อมกันนี้ กทม. สรุปว่า เห็นควรให้มีการนำเสนอครม.เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณ สำหรับการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณสำหรับค่าก่อสร้างและดอกเบี้ยในอนาคตทั้งหมด
โดยปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีภาระหนี้จากงานโครงสร้างพื้นฐานและงานซื้อขายพร้อมติดตั้งระบบการเดินรถ รวมทั้งสิ้น 78,830.86 ล้านบาท
แต่เนื่องจากพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 มีผลใช้บังคับแล้ว การขอรับการสนับสนุนงบประมาณสำหรับการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว จึงไม่สามารถเสนอครม. เพื่อพิจารณาได้เพราะจะมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อครม.ชุดต่อไป เป็นไปตามแนวทางปฏิบัติอันเนื่องมาจากการยุบสภาผู้แทนราษฎร
แหล่งข่าว ระบุว่า ในระหว่างการชี้แจง มท.1 แจ้งว่า เหตุผลที่เสนอเข้ามาครม.รอบนี้รับทราบ ก็เพื่อให้บริษัทเอกชน ซึ่งปัจจุบันรับภาระหนี้แทนรัฐอยู่จะได้มีทางออก ในการแก้ปัญหาทางด้านการเงิน โดยเฉพาะกรณีการขอเงินกู้ และต้องเจอภาระดอกเบี้ยสูง หรือการออกหุ้นกู้ก็ทำได้ไม่ง่าย เพราะติดปมภาระหนี้ที่รัฐค้างจ่ายอยู่จำนวนมาก ขณะที่การนำเสนอทางออกเกี่ยวกับการทำ PPP ก็คงต้องเสนอให้รัฐบาลใหม่พิจารณาอีกครั้ง
นางณัฐฏ์จารี อนันตศิลป์ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การหารือถึงรายงานความคืบหน้าการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ครั้งนี้ กทม.ได้มารายงานข้อมูลต่าง ๆ ของโครงการให้ครม.รับทราบว่า เหตุการณ์เรื่องของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวกำลังเดินอยู่อย่างนี้ เพื่อให้ครม.รับทราบเฉย ๆ แต่ไม่ได้อนุมัติอะไร
ส่วนแนวทางการต่อสัมปทานให้กับเอกชนเพื่อแก้ปัญหาหนี้สินนั้น จากข้อเสนอของ กทม. อยากให้นำรูปแบบของ PPP มาใช้ และไม่อยากดำเนินการโดยใช้คำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่อย่างไรก็ดีถ้าตัดสินใจใช้รูปแบบนี้ก็อาจต้องขั้นตอนต้องเริ่มใหม่ทั้งหมด ทั้งหมดนี้คงต้องเสนอให้รัฐบาลหน้าพิจารณาต่อไป
ขณะที่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวภายหลังทราบมติครม.รับทราบรายงานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ว่า การที่ครม.นำเรื่องเข้าไปเพื่อรับทราบ ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่สุดท้ายแล้วก็คงต้องรอรัฐบาลใหม่ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
“ตอนนี้เป็นครม.รักษาการ สิ่งที่กทม. ขอไปให้ช่วยชำระค่าโครงสร้างพื้นฐาน และค่าติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ หรือ E&M ก็คงอยู่นอกเหนือจากอำนาจของรัฐบาลชุดนี้แต่อย่างน้อยก็เพื่อให้ท่านได้รับทราบว่า กทม.คิดอย่างไร ซึ่งจริงๆแล้ว กทม.ก็ส่งให้ท่านตั้งนานแล้ว แต่ก็มองว่า ก็เป็นเรื่องที่คาดการณ์ไว้แล้ว” นายชัชชาติ ระบุ
อย่างไรก็ตามยอมรับว่า สิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลตัดสินใจคือ เรื่องของ ม.44 จะเดินหน้าหรือจะยุติอย่างไรต่อ เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญ เนื่องจากมีการรวมหนี้เก่าไปเป็นสัมปทานใหม่ หากจะไม่ทำก็ต้องยุติให้ชัดเจน ขณะที่ภาระหนี้ที่กทม.ต้องการให้รัฐบาลดำเนินการ คือ หนี้โครงสร้างพื้นฐาน และค่าติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ หากรัฐบาลช่วยได้ตามมติคณะกรรมการจัดระบบจราจรทางบก (คจร.) ก็เชื่อว่าน่าจะทำให้ดีขึ้นได้