แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้ประเมินความสามารถในการใช้จ่ายเงินของรัฐบาล ทั้งในส่วนของการใช้จ่ายตามมาตรา 28 ตามกรอบพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง และเพดานการก่อหนี้สาธารณะ พบว่า รัฐบาลเหลือพื้นที่การใช้จ่ายค่อนข้างจำกัด ขณะนี้ใกล้เต็มเพดานที่ 32% ของวงเงินงบประมาณรายจ่าย ดังนั้น จึงเป็นข้อจำกัดต่อการดำเนินมาตรการใดๆ ของรัฐบาลที่จะใช้จ่ายเงินตามมาตรา 28
ทั้งนี้ ณ สิ้นปีงบประมาณ 2565 ภาระผูกพันจากการใช้จ่ายเงินตามมาตรา 28 ของรัฐบาลอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านล้านบาท คิดเป็น 33.5% ของงบประมาณรายจ่าย และ ณ สิ้นเดือนมิ.ย.2566 วงเงินคงเหลือตามมาตรา 28 อยู่ที่ประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท จึงอาจไม่เพียงพอที่จะดำเนินกิจกรรมใดๆ ของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2566 นอกจากนี้ ในปีงบประมาณ 2567 อาจมีการพิจารณาปรับลดกรอบอัตรายอดคงค้างจาก 32% เป็น 30% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี
โดยการดำเนินโครงการตามมาตรา 28 อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทางการคลังในอนาคตและสร้างภาระให้กับหน่วยงานของรัฐ เนื่องจากหน่วยงานจากรัฐ โดยเฉพาะสถาบันการเงินของรัฐ จะต้องสำรองจ่ายเงินตนเองไปก่อน รัฐบาลจึงควรดำเนินโครงการตามมาตรา 28 เท่าที่จำเป็น และจัดลำดับความสำคัญโครงการ
“ที่ผ่านมา การดำเนินนโยบายของรัฐบาลตามที่ได้หาเสียงไว้ หรือ นโยบายในการดูแลเศรษฐกิจระดับรากหญ้า จะใช้แบงก์รัฐเป็นเครื่องมือในการสำรองจ่ายเงินไปก่อน เช่น โครงการประกันรายได้ โครงการจำนำพืชผลการเกษตรต่างๆ ซึ่งการใช้จ่ายดังกล่าว ถือเป็นการใช้เงินนอกงบประมาณตามมาตรา 28 ของพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง โดยรัฐบาลจะต้องชดเชยการใช้จ่ายเงินให้กับแบงก์รัฐในอนาคต”
สำหรับพื้นที่ทางการคลังจากเพดานการก่อหนี้สาธารณะจะพบว่า สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ณ พ.ค.2566 อยู่ที่ 61.63% ยังคงมีพื้นที่ทางการคลังคงเหลือจากเพดานที่กำหนดไว้ไม่เกิน 70% ของจีดีพี หรือราว 1.5 ล้านล้านบาท
อย่างไรก็ดี ความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งพิจารณาจากสัดส่วนภาระดอกเบี้ยต่อประมาณการรายได้ที่ไม่ควรเกิน 10.09% ในปัจจุบันสัดส่วนดังกล่าวอยู่ที่ประมาณ 8.5% ทำให้เหลือพื้นที่อีกประมาณ 1.5% เท่านั้น ดังนั้น การพิจารณาดำเนินนโยบายที่จะสร้างภาระการคลัง ภายใต้สถานการณ์ที่อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และการชำระคืนต้นเงินกู้ในอัตราที่ต่ำ จำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ
ขณะที่ฐานะการคลังของรัฐบาลนั้น ในปีงบประมาณ 2567 ครม. เห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายที่ 3.35 ล้านล้านบาท ประมาณการรายได้รัฐบาลที่ 2.75 ล้านล้านบาท และกรอบการขาดดุลงบประมาณที่ 5.93 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 3.0% ต่อจีดีพี
ทั้งนี้ กรอบการกู้เพื่อชดเชยการขาดดูลงบประมาณสูงสุดตามกฎหมายอยู่ที่ 20% ของกรอบวงเงินงบประมาณ บวกกับ 80% ของรายจ่ายชำระต้นเงินกู้ โดยปีงบประมาณ 2567 อยู่ที่ 7.63 แสนล้านบาท ดังนั้น จึงคงเหลือวงเงินกู้เพื่อชดเชยขาดดุลอยู่ที่ 1.7 แสนล้านบาท ทั้งนี้ หากปรับเพิ่มการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลจะทำให้สัดส่วนเกินกว่า 3% ต่อจีดีพีที่กำหนดไว้ในแผนการคลังระยะปานกลางในปีงบประมาณ 2567 – 2570
ขณะที่แหล่งเงินที่รัฐบาลจะสามารถนำมาใช้จ่ายสำหรับนโยบายหาเสียงได้อย่างเร็วที่สุด คือ งบกลาง ซึ่งในปีงบประมาณ 2566 มีวงเงินจำนวน 9.2 หมื่นล้านบาท ขณะนี้เหลือวงเงินประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ส่วนปี 2567 มีวงเงินประมาณ 9.3 หมื่นล้านบาท
อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายจะต้องเป็นไปตามพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ซึ่งต้องใช้จ่ายเพื่อวัตถุประสงค์ในการป้องกันหรือเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะร้ายแรง และการกิจที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐ เป็นต้น นอกจากนี้ หากงบกลางไม่เพียงพอ รัฐบาลสามารถใช้งบจากเงินทุนสำรองจ่าย ซึ่งมีวงเงิน 5 หมื่นล้านบาท