นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯเข้าร่วมประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน (Senior Economic Officials Meeting: SEOM) ครั้งที่ 3/54 ที่สาธารณรัฐอินโดนีเซีย เพื่อติดตามการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจของปี 2566
ก่อนเสนอผลลัพธ์ต่อรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ในเดือนสิงหาคมนี้ พร้อมเตรียมการประชุมกับประเทศนอกภูมิภาค ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา จีน สหภาพยุโรป ฮ่องกง อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ รัสเซีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา
โดยประเด็นสำคัญด้านเศรษฐกิจที่จะผลักดันร่วมกัน ภายใต้การเป็นประธานของอินโดนีเซียในปีนี้ ทั้งด้านดิจิทัล ด้านสิ่งแวดล้อม และเสริมสร้างโครงสร้างอุตสาหกรรมพื้นฐานสำคัญของอาเซียน เพื่อเสนอต่อรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนให้ความเห็นชอบ
เช่นผลการศึกษากรอบความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน หรือ DEFA (Digital Economy Framework Agreement) เพื่อให้ผู้นำประกาศเริ่มเจรจาจัดทำความตกลง DEFA ในเดือน ก.ย.นี้
นอกจากนี้ ยังได้เห็นชอบการจัดทำยุทธศาสตร์อาเซียนเพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งจะเสริมสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจด้านนวัตกรรม การลงทุนคาร์บอนต่ำ การสร้างงานใหม่ๆ ในภูมิภาค และการจัดทำแถลงการณ์รัฐมนตรีเศรษฐกิจสำหรับการจัดทำกรอบการดำเนินงานว่าด้วยโครงการพื้นฐานของอาเซียน เพื่อขับเคลื่อนอาเซียนก้าวสู่ภูมิภาคที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก ภายในปี 2593
สำหรับการหารือเตรียมการประชุมกับประเทศคู่เจรจาไมว่าจะเป็น การสรุปการเจรจายกระดับความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (AANZFTA) กำหนดจะลงนามโดยรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนภายในปีนี้ การติดตามความคืบหน้าการเจรจายกระดับความตกลง FTA กับ จีน เกาหลีใต้ อินเดีย และแคนาดา การหารือเรื่องแผนงานความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้า อาทิ การจัดทำแผนปฏิบัติการทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์ระหว่างกัน การยกระดับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้ากับสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร สหภาพยุโรป และรัสเซีย โดยให้ความสำคัญกับสาขาเศรษฐกิจดิจิทัล เทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมและบริการด้านสิ่งแวดล้อม การเงิน และห่วงโซ่อุปทานที่ยืดหยุ่น ทั้งนี้ รัฐมนตรีเศรษฐกิจของอาเซียนจะมีการประชุมกับประเทศคู่เจรจาในเดือน ส.ค.นี้
“การประชุม SEOM ครั้งนี้ ถือเป็นครั้งสุดท้ายของปี ซึ่งได้กำหนดทิศทางที่สำคัญของอาเซียน โดยเฉพาะการเจรจาจัดทำความตกลง DEFA ที่ผู้นำจะประกาศเปิดการเจรจาในปีนี้ ซึ่งจะเป็นการเชื่อมกฎเกณฑ์ด้านการค้าดิจิทัลให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าอิเล็กทรอนิกส์ในอาเซียน จาก 1.05 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2563 เป็น 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2568 รวมทั้งจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้การค้าระหว่างกันเติบโตถึง 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปีเดียวกันอีกด้วย”
ทั้งนี้ ในช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค. 2566) การค้าระหว่างไทยกับอาเซียน มีมูลค่า 49,653 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกัน 5.5% โดยไทยส่งออกไปอาเซียน มูลค่า 28,044 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากอาเซียน มูลค่า 21,609 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์