กลายเป็นประเด็นร้อนปานปลาย สำหรับโครงการก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่ โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ ขนาด 800,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน มูลค่าโครงการรวม 6,526 ล้านบาท ของ การประปานครหลวง (กปน.) ที่ได้ผ่านการประกวดราคาใน ระบบอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อช่วงปลายปี 2564 และมีการลงนามในสัญญาจ้าง
โดยไม่รับฟังผลการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง ที่มีหนังสือแจ้ง การประปานครหลวง (กปน.) ว่าอุทธรณ์ของผู้ร้องฟังขึ้น ก่อนจะมีการลงนามในสัญญาจัดซื้อจัดจ้างกับบริษัทผู้เสนอราคาสูงกว่า
แม้มีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ของบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด และบริษัท ชิโน-ไทย เอนจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ที่ลงนามโดยอธิบดีกรมบัญชีกลาง ปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงการคลัง ลงวันที่ 3 พ.ค. 2565 ระบุว่า กรณีผู้อุทธรณ์ทั้ง 2 ราย ยื่นข้อเสนอประกวดราคาเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดในเอกสารการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์แล้ว (มีหนังสือรับรองผลงานที่มีกำลังการผลิต Nominal Capacity 100,000 ลบ.ม.ต่อวัน)
ข้อกล่าวอ้างของผู้อุทธรณ์จึงฟังขึ้น และมีผลต่อการจัดซื้อจัดจ้างอย่างมีนัยสำคัญ ตามหนังสือฉบับดังกล่าว พร้อมให้ กปน. กลับไปดำเนินการในขั้นตอนการพิจารณาผลการเสนอราคา ของผู้ยื่นข้อเสนอให้ถูกต้องต่อไป ตามนัยมาตรา 119 วรรคสองแห่ง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560
ในเวลาต่อมาแทนที่ทาง กปน.จะพิจารณาตามผลอุทธรณ์ และขั้นตอนด้วยการพิจารณาคัดเลือกจากบริษัทที่เสนอราคาต่ำสุด ซึ่งได้ยื่นรายละเอียดคุณสมบัติเพิ่มเติมตามที่ กปน. กำหนดแล้ว แต่กลับไปดำเนินการลงนามในสัญญากับบริษัท ITA Consotium เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2566
แม้ต่อมาบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง ได้ยื่นอุทธรณ์อีกครั้ง แต่ กปน.ไม่ได้ส่งเรื่องการยื่นอุทธรณ์การจัดซื้อจัดจ้างงานฯ ให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง พิจารณา ซึ่งการกระทำของ กปน. ดังกล่าว เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
สำหรับการขอตรวจสอบผลงานของบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง ของคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ในประเด็นขนาดกำลังผลิตน้ำไม่ถึง 100,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน
ตามที่ทางคณะกรรมการฯ ของ กปน. ให้บริษัทฯ ชี้แจงเพิ่มเติมหลังจากไม่ผ่านคุณสมบัติในรอบแรกนั้น ได้ยื่นเอกสารรับรองผลงานก่อสร้างปรับปรุงขยายการประปาส่วนภูมิภาค สาขาสุราษฎร์ธานี ซึ่งมีผลงานครบถ้วนตามเงื่อนไข TOR และสอดคล้องกับผลการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ ที่แจ้งว่าอุทธรณ์ฟังขึ้น
พร้อมกันนี้โครงการดังกล่าว ได้ถูกคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร สอบข้อเท็จจริง โดยเนื้อหาผลสอบสรุปตอนหนึ่งระบุว่า
หากไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง จะลงนามในสัญญายังไม่ได้ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะมีความผิดฐานละเว้นหรือไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 120 และมาตรา 121 และขัดคำสั่งเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
ทั้งนี้ ผู้บริหารระดับสูง กปน. กับพวก ที่มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาเรื่องนี้กลับไม่ปฏิบัติตามความเห็นของคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารงานพัสดุภาครัฐ กรมบัญชีกลาง
ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารงานพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ที่กำหนดให้การวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เป็นที่สุด
แม้ กปน.จะยังไม่ประกาศว่าการประกวดราคาครั้งนี้บริษัทใดชนะการประกวดราคาตามระเบียบก็ตาม (ประกาศผู้ชนะการประกวดราคา 24 มี.ค. 66) แต่การที่ กปน. ประวิงการประกาศผู้ชนะและมีพฤติการณ์ต่างๆ ที่แสดงว่าเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยกฎหมายก็ทำให้บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง ได้รับความเสียหายจากการกระทำดังกล่าวแล้ว
ดังนั้นพฤติการณ์ และการกระทำดังกล่าวของผู้บริหารระดับสูงของ กปน. กับพวก อาจเข้าข่ายความผิดฐานต่อตำแหน่งหน้าที่ ละเว้นหรือไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารงานพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 120 และมาตรา 121 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
โดยข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ คือให้ส่งเรื่องพฤติการณ์ทั้งหมดนี้ไปยังประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาไต่สวนบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาโครงการนี้ จำนวน 10 ราย
อีกทั้งให้ส่งเรื่องไปยังปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงมหาดไทย และแจ้งประธานสภาผู้แทนราษฎร ทราบต่อไป อย่างไรก็ตาม ต่อมาบริษัทวงษ์สยามก่อสร้างได้ยื่นฟ้องศาลปกครอง
โดยเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2566 ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่ง ทุเลาการบังคับตามประกาศการประปานครหลวง ลงวันที่ 7 มี.ค. 2566 เรื่อง ประกาศผู้ชนะการเสนอราคา ประกวดราคาจ้างก่อสร้างงานก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์
พร้อมงานที่เกี่ยวข้อง ตามที่ กปน.ประกาศให้ ITA Consortium เป็นผู้ชนะการเสนอราคาไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น แต่ กปน. ก็อ้างว่าได้ลงนามในสัญญาไปก่อนศาลปกครองกลางจะมีคำสั่ง
สำหรับโครงการดังกล่าวนี้ มีผู้ยื่นเสนอราคา 5 ราย ประกอบด้วย