กระทรวงคมนาคมมีเครื่องมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้ง 4 ด้าน ประกอบด้วย ทางบก ทางราง ทางนํ้า และทางอากาศ ที่สามารถเดินทางขนส่งสินค้าจากต้นทางสู่ปลายทางได้มีประสิทธิภาพให้มีความสะดวก ปลอดภัย ตรงเวลามีความสมเหตุสมผล หากสามารถดำเนินการได้จะส่งผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศสามารถสร้างรายได้ให้ประเทศในภาคการท่องเที่ยว,อุตสาหกรรมและเกษตรกรรม เพราะไทยเป็นประเทศส่งออกที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศ
นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ปาฐถกถาพิเศษ ในงานสัมมนา “โจทย์ใหญ่ฟื้นอสังหาริมทรัพย์: PROPERTY INSIGHT” หัวข้อ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ว่าปัจจุบัน การคมนาคมขนส่งในเมืองมักจะพบเจอปัญหาการจราจรติดขัด การคมนาคมขนส่งมีปัญหา ,ปัญหามลพิษทางอากาศหรือฝุ่น PM 2.5
ทั้งนี้สาเหตุที่ประชาชนไม่เลือกใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะ เนื่องจากการเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะไม่สะดวก,รถโดยสารมีไม่เพียงพอ ,ไม่มีความตรงต่อเวลาของการเดินรถ นอกจากนี้ยังพบอีกว่าเมื่อมีการพัฒนาระบบขนส่งทางรางกลับเจอระบบการเชื่อมต่อขนส่งสาธารณะที่ไม่สามารถรองรับการเดินทางของประชาชนได้ จากปัญหาเหล่านี้ถือเป็นสาเหตุที่ประชาชนเลือกใช้รถยนต์ส่วนบุคคลแทนการใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะ ฯลฯ
ส่งผลให้ที่ผ่านมาประเทศไทยมักพึ่งพาการขนส่งสาธารณะทางถนนเป็นหลักด้วยการใช้รถบรรทุกขนส่งสินค้า โดยภาครัฐพยายามหันไปใช้การขนส่งทางระบบรางมากขึ้นเพราะมีต้นทุนที่ถูกกว่า แต่ยังมีปัญหาที่ระบบรางของไทยยังคงเป็นระบบรางเดี่ยว ส่งผลให้ไม่สามารถขนส่งสินค้าได้ตรงเวลาและผู้ประกอบการไม่สามารถขนส่งสินค้าไปยังท่าเรือได้ทันตามกำหนด
“สิ่งที่เราตั้งเป้าหมายคือทำอย่างไรที่จะเปลี่ยนคนเดินทางจากรถยนต์ส่วนบุคคลไปสู่รถขนส่งสาธารณะ ถ้าระบบขนส่งสาธารณะไม่สะดวกไม่มีใครมาใช้บริการแน่ หากไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาจะทำให้ศักยภาพการแข่งขันของประเทศด้อยลงไม่สามารถสู้ประเทศอื่นได้”
เพิ่มสปีดระบบราง
นายชยธรรม์ กล่าวต่อว่า ในอนาคตผู้คนจะเดินทางด้วยระบบรางมากขึ้น หากสามารถพัฒนาระบบราง โดยเพิ่มความเร็วในการเดินทางได้ด้วยความเร็ว 100 กม.ต่อชั่วโมง เชื่อว่าจะทำ ให้ระบบการคมนาคมขนส่งมีความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น ซึ่งกระทรวงคมนาคมพยายามวางรากฐานในการพัฒนาให้ประชาชนสามารถกระจายปอยู่ในพื้นที่อื่นๆได้มากขึ้น เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยที่ใช้ระยะเวลาการเดินทางเข้าสู่ใจกลางเมืองเท่าเดิม
“สิ่งสำคัญไม่ใช่การพัฒนาระบบรางแล้วจบ แต่การให้ประชาชนมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ คือระบบฟีดเดอร์ ที่เป็นสิ่งสำคัญ โดยสิ่งที่กระทรวงคมนาคมต้องดำเนินการควบคู่ คือ การวางระบบฟีดเดอร์ที่ใช้พลังงานสะอาด เช่น รถบัสพลังงานไฟฟ้าร่วมกับการพัฒนาระบบรถไฟฟ้า เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชน ซึ่งเราอยากเห็นประชาชนที่ใส่สูทผูกไทด์ สามารถใช้ระบบขนส่งสาธารณะได้ เพื่อลดปริมาณการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลในเมือง”
ปี75 รถไฟฟ้า คลุม 554 กม.
กระทรวงฯมีแผนพัฒนาระบบรถไฟฟ้า ระยะทาง 554 กม. จำนวน 14 สาย คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2575 โดยในปี 2572 จะต้องดำเนินการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าให้ได้ประมาณ 80% ของทั้งระบบ เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะ ปัจจุบันมีการเปิดบริการรถไฟฟ้าแล้ว ระยะทาง 241 กม. เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายเขียว,รถไฟสายสีแดง,รถไฟฟ้าสายสีเหลือง, รถไฟฟ้าสายนํ้าเงิน,ร ถไฟฟ้าสายสีม่วง, รถไฟฟ้าสายสีทอง
ส่วนรถไฟฟ้าที่ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง เช่น รถไฟฟ้าสายชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี, ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์), รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ฯลฯ ขณะที่แผนพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้า ระยะที่ 2 (M-Map2) ยังพบว่ามีเส้นทางที่น่าสนใจคือ เส้นทางที่เชื่อมต่อบางหว้าของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียววิ่งบนถนนราชพฤกษ์ซึ่งจะเชื่อมต่อกับบางบำหรุของโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน พบว่าแนวเส้นทางดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีประชาชนอาศัยค่อนข้างมาก
เร่งเต็มสูบมอเตอร์เวย์-ทางด่วน
ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมยังเร่งรัดให้กรมทางหลวง (ทล.) ดำเนินโครงการทางพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง จำนวน 3 โครงการ ประกอบด้วย มอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา ,มอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรี และมอเตอร์เวย์สายบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว
สำหรับโครงการที่อยู่ระหว่างขั้นตอนศึกษาออกแบบ จำนวน 3 โครงการ ประกอบด้วย มอเตอร์เวย์ ช่วงนครปฐม-ปากท่อ ,มอเตอร์เวย์ ช่วงวงแหวนรอบ 3 ด้านตะวันออก ทล.305 ถึงฉลองรัช และการพัฒนาทางหลวงด้านเหนือกรุงเทพฯ (Junction บางปะอิน)
ชงครม.ใหม่ไฟเขียว 1.13 แสนล้าน
ปัจจุบันโครงการที่อยู่ระหว่างเตรียมเสนอขออนุมัติกระทรวงคมนาคม,คณะกรรมการ PPP,และครม.ชุดใหม่เห็นชอบภายในปีนี้ หลายโครงการ เช่น มอเตอร์เวย์ส่วนต่อขยายดอนเมืองโทรลล์เวย์ ระยะทาง 22 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 31,375 ล้านบาท ,มอเตอร์เวย์สายบางขุนเทียน-บางบัวทอง ระยะทางประมาณ 35.85 กิโลเมตร วงเงิน 56,035 ล้านบาท และมอเตอร์เวย์สายบางบัวทอง-บางปะอิน ระยะทาง 34.1 กม. วงเงินลงทุนก่อสร้าง 15,260 ล้านบาท
ทั้งนี้ยังมีรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างเตรียมเสนอครม.ชุดใหม่พิจารณาภายในปีนี้ด้วยเช่นกัน จำนวน 5 โครงการ อาทิ รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีแดงช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 4,616 ล้านบาท, ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. วงเงิน 6,468 ล้านบาท และช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.8 กม. วงเงิน 10,670 ล้านบาท ฯลฯ
ลุยต่อรถไฟทางคู่
นายชยธรรม์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันรฟท.ได้มีการพัฒนารถไฟทางคู่ ระยะที่ 1 จำนวน 5 เส้นทาง วงเงิน 82,581 ล้านบาทประกอบด้วย 1.ช่วงลพบุรี-ปากนํ้าโพ ระยะทาง 148 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 18,699 ล้านบาท 2.ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 29,900 ล้านบาท 3.ช่วงนครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 169 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 15,718 ล้านบาท 4.ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 84 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 5,807 ล้านบาท 5.ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 12,457 ล้านบาท คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปลายปี 2566-ต้นปี 2567
นอกจากนี้จะดำเนินการพัฒนารถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 จำนวน 7 เส้นทาง วงเงิน 2.74 แสนล้านบาท ประกอบด้วย 1.ช่วงปากน้ำโพ – เด่นชัย ระยะทาง 285 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 6.28 หมื่นล้านบาท 2.ช่วงขอนแก่น – หนองคาย ระยะทาง 167 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 2.97 หมื่นล้านบาท 3.ช่วงชุมทางถนนจิระ – อุบลราชธานี ระยะทาง 308 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 3.75 หมื่นล้านบาท 4.ช่วงชุมพร – สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 168 กิโลเมตร(กม.) วงเงิน 2.42 หมื่นล้านบาท, 5.ช่วงสุราษฎร์ธานี - ชุมทางหาดใหญ่ – สงขลา ระยะทาง 321 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 5.73 หมื่นล้านบาท 6.ช่วงชุมทางหาดใหญ่ - ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 6.66 พันล้านบาทและ 7.ช่วงเด่นชัย - เชียงใหม่ ระยะทาง 189 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 5.68 หมื่นล้านบาท
ไฮสปีด 4 ทิศทาง
ขณะเดียวกันได้มีการวางแผนโครงการรถไฟความเร็วสูงทั้ง 4 ทิศทาง ที่จะเชื่อมต่อกับรถไฟในประเทศจีน แบ่งเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย 1.ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา อยู่ระหว่างก่อสร้าง 2.ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ปัจจุบันออกแบบรายละเอียดใกล้แล้วเสร็จ 3.ช่วงหนองคาย-เวียงจันทน์เพื่อเชื่อมต่อรถไฟจีน
พลิกโฉมรอบสถานี
“เมื่อมีการสร้างระบบรถไฟฟ้าแล้วยังมีการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีกลางบางซื่อ (TOD) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการศึกษาร่วมกับไจก้า โดยปัจจุบันรฟท.ได้มีการตั้งบริษัทลูกหรือบริษัทเอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRTA) เพื่อจัดการบริหารพื้นที่โดยรอบ รวมทั้งที่ดินแปลงอื่นๆของรฟท.อีกด้วย”