นายปิยพงษ์ จิวัฒนกุลไพศาล รองอธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เป็นประธานเปิดงานนิทรรศการสรุปแผนแม่บททางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบรางระยะ 20 ปี (พ.ศ.2566-2585) ) ภายใต้การศึกษาแผนพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) และระบบราง (Motorway-Rail Map: MR-MAP) ทล. ได้สรุปแผนแม่บทบูรณาการ MR-MAP ในระยะยาว ระยะทาง 6,877 กม. (รวมเส้นทางที่เปิดให้บริการแล้วและอยู่ระหว่างก่อสร้าง 670 กม.) มีจำนวน 10 โครงข่ายทั่วประเทศ วงเงินลงทุนรวม 6.28 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นมอเตอร์เวย์ วงเงิน 5.12 ล้านล้านบาท และ ระบบรางวงเงิน 1.16 ล้านล้านบาท โดยจะพัฒนาเป็นมอเตอร์เวย์ร่วมกับราง 3,543 กม. ช่วยลดพื้นที่เวนคืนได้ 135,000 ไร่ ลดค่าเวนคืนทั้งหมด 200,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ผลการศึกษาฯจะแล้วเสร็จเดือน ก.ย.66 จากนั้นเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณา เพื่อนำรายงานคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อทราบและผลักดันให้เกิดการก่อสร้างต่อไป
ส่วนภาพรวมแผนแม่บทดังกล่าวได้จัดทำแผนพัฒนา 20 ปี (ปี 66-85) เพื่อลำดับความสำคัญในด้านความพร้อม สภาพพื้นที่ และปริมาณการจราจร เพื่อจัดให้มีการดำเนินการจำนวน 23 โครงการ ระยะทาง 1,924 กม. มูลค่าลงทุน 1.63 ล้านล้านบาท ดังนี้
สำหรับโครงการระยะ 5 ปี (เริ่มก่อสร้างปี 66-70) จำนวน 9 โครงการ 391 กม. วงเงินลงทุน 442,979 ล้านบาท ได้แก่ 1.ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน ระยะทาง 22 กม. วงเงิน 29,014 ล้านบาท เริ่มสร้างปี 68 เปิดบริการปี 71
2.บางขุนเทียน-บางบัวทอง 36 กม. วงเงิน 56,035 ล้านบาท เริ่มสร้างปี 68 เปิดบริการปี 71 3.บางบัวทอง-บางปะอิน 34 กม. วงเงิน 34 กม. วงเงิน 15,260 ล้านบาท เริ่มสร้างปี 68 เปิดบริการปี 71 4.ทางเชื่อมต่อถนนวงแหวนฯ รอบที่ 2 ด้านตะวันตกและตะวันออก 4 กม. วงเงิน 4,090 ล้านบาท เปิดบริการปี 71
5.นครปฐม-ปากท่อ 61 กม. วงเงิน 45,248 ล้านบาท สร้างปี 68 เปิดบริการปี 72 6.สงขลา-สะเดา 69 กม. วงเงิน 40,787 ล้านบาท สร้างปี 70 เปิดบริการปี 74 7.ทางพิเศษจตุโชติ-วงแหวนรอบกรุงเทพฯ รอบที่ 3 (ด้านตะวันออก) 19 กม. วงเงิน 33,400 ล้านบาท สร้างปี 69 เปิดบริการปี 72
8.วงแหวนฯ รอบที่ 3 ด้านตะวันออก ช่วง ทล.305-ทล.34 ระยะทาง 52 กม. วงเงิน 88,809 ล้านบาท สร้างปี 70 เปิดบริการปี 74 และ 9.ชุมพร-ระนอง 94 กม. วงเงิน 103,336 ล้านบาท สร้างปี 70 เปิดบริการปี 73
นายปิยพงษ์ กล่าวต่อว่า ทั้ง 9 โครงการนี้ ทล. มีแผนนำร่องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่พิจารณา 4 โครงการ วงเงิน 145,647 ล้านบาท เร่งด่วนก่อน ประกอบด้วย 1.ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน (M5) โดยใช้รูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP Gross Cost)
2.M9 ช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทอง ปัจจุบัน 2 โครงการอยู่ระหว่างรอตั้งรัฐบาลใหม่แล้วเสร็จ หลังจากนั้นกระทรวงคมนาคมจะเสนอ ครม. พิจารณาเห็นชอบได้ภายในปีนี้ และเริ่มดำเปิดประมูลในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP Net Cost) ภายในกลางปี 67-ไตรมาส 4 ของปี 67 คาดลงนามสัญญาพร้อมดำเนินการก่อสร้างได้ภายในปลายปี 68 ระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี เปิดให้บริการภายในปี 71
3.M9 ช่วงบางบัวทอง-บางปะอิน เบื้องต้น ทล. เป็นผู้ลงทุนก่อสร้างงานโยธาเอง อยู่ระหว่างเตรียมเสนอกระทรวงคมนาคม และครม.พิจารณาเห็นชอบขอใช้แหล่งเงินกู้เพื่อก่อสร้างงานโยธา เนื่องจากเป็นโครงการที่สร้างในเขตทาง ทำให้โครงการฯนี้ไม่ต้องเปิดประมูลในรูปแบบ PPP ส่วนงานติดตั้งระบบ O&M ใช้งบประมาณจากกองทุนมอเตอร์เวย์ ปัจจุบันมีเงินอยู่ประมาณ 17,000 ล้านบาท มีรายได้ 10-23 ล้าท/วัน คาดเริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 68 เปิดให้บริการภายในปี 71
4.มอเตอร์เวย์ สายนครปฐม-ปากท่อ อยู่ระหว่างสรุปรายละเอียดโครงการ เพื่อเสนอกระทรวงคมนาคมและ ครม.พิจารณาเห็นชอบต่อไป โดยโครงการนี้กรมจะเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างเอง ทั้งนี้ในปีที่จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างช่วงนครปฐม-ปากท่อ กรมจะใช้งบจากกองทุนมอเตอร์เวย์หากยังมีสภาพคล่องเพียงพอ ส่วนงานติดตั้งระบบ O&M จะใช้รูปแบบ PPP ตามแผนโครงการเริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 68 เปิดให้บริการปี 72