แม้สถานการณ์ทางการเมืองของประเทศไทย จะเริ่มนิ่ง หลังสามารถตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ โดยมีนายกรัฐมนตรี ชื่อ เศรษฐา ทวีสิน พร้อมทั้งจัดตั้ง ครม.เศรษฐา 1 จนเสร็จสิ้นเรียบร้อย รอเข้ามาบริหารราชการแผ่นดินอย่างเป็นทางการแล้ว แต่ในด้านเศรษฐกิจเองนั้น นี่ถือเป็นการเริ่มต้นนับหนึ่งกับการต่อสู้กับปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังถาโถมอยู่หลายด้าน ทั้งจากในและนอกประเทศ วัดฝีมือรัฐบาลใหม่เร่งรับมือก่อนเกิดวิกฤต
ที่ผ่านมา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เข้าไปรายงานสถานการณ์ประเทศให้กับ นายกฯ เศรษฐา รับทราบสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจและสังคมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เบื้องต้น สศช. มีข้อมูลเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2566 โดยพบว่า ขยายตัว 1.8% ชะลอลงจาก 2.6% ในไตรมาสแรก ส่งผลให้ช่วงครึ่งแรกของปี 2566 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 2.2%
ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ทั้งปี 2566 ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 2.5-3% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวในเกณฑ์ดีของการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว รวมทั้งการขยายตัวต่อเนื่องของการลงทุนทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ
แต่อีกประเด็นที่น่าสนใจ นั่นคือ ข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงด้านเศรษฐกิจที่รัฐบาลใหม่ต้องเจอกับปัญหานี้แน่ ๆ โดย สศช. ได้แจ้งเอาไว้ว่าในปี 2566 ประเทศไทยจะต้องเจอกับปัญหาอย่างน้อย 4 เรื่องใหญ่ สรุปได้ดังนี้
ปัญหาการจัดทำงบประมาณล่าช้า
เป็นผลมาจากเงื่อนไขทางการเมืองที่อาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศทางเศรษฐกิจ กระบวนการจัดตั้งรัฐบาลส่งผลต่อความล่าช้าในกระบวนการจัดทำงบประมาณประจำปี 2567 และยังอาจส่งผลกระทบต่อการพิจารณาอนุมัติร่างกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการบริหารราชการแผ่นดิน โดยเฉพาะการดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจ ซึ่งต้องรอการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่
ทั้งนี้ หากล่าช้าออกไปจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่รอความชัดเจนของนโยบายรัฐบาล โดยในกรณีฐาน คาดว่า กระบวนการจัดทำงบประมาณประจำปี 2567 จะมีความล่าช้า 6 เดือน ส่งผลให้งบประมาณจะสามารถเริ่มเบิกจ่ายได้ในไตรมาสที่ 3 ของปีงบประมาณ 2567
ปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัว
ความเสี่ยงจากการชะลอตัวมากกว่าที่คาดของเศรษฐกิจโลก และความผันผวนในตลาดการเงินโลก โดยมีเงื่อนไขความเสี่ยงที่ต้องติดตาม และประเมินอย่างใกล้ชิด ประกอบด้วย
1. การชะลอตัวของเศรษฐกิจ โดยเป็นผลมาจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางสำคัญ ๆ เพื่อลดแรงกดดันของเงินเฟ้อในช่วงที่ผ่านมา จนทำให้ภาวะตลาดเงินตึงตัวและต้นทุนการกู้ยืมสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นข้อจำกัดในการฟื้นตัวของการบริโภคและการลงทุนของประเทศเศรษฐกิจสำคัญ ขณะที่ประเทศที่มีหนี้สินในสกุลเงินต่างประเทศในสัดส่วนที่สูงจะมีความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่มากขึ้น
2. ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในภาพรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่เริ่มกลับมายกระดับมาตรการกีดกันทางการค้า การลงทุนและการแข่งขันทางเทคโนโลยีมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการดำเนินมาตรการคว่ำบาตรการลงทุนในเทคโนโลยีขั้นสูงของสหรัฐฯ
รวมทั้งมาตรการควบคุมการส่งออกแร่ธาตุหายาก (Rare-earth) ของจีน ในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ยังมีความยืดเยื้อ จนอาจส่งผลต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์และพลังงานให้ยังอยู่ในระดับสูงและสร้างแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปี
3. การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่อาจล่าช้ากว่าที่คาด เนื่องจากยังเผชิญข้อจำกัดจากการลงทุนภายในประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เผชิญปัญหาหนี้สินที่ยังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับการใช้จ่ายภายในประเทศที่ชะลอตัว ซึ่งส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเริ่มติดลบ 0.3% ในเดือนกรกฎาคม ถือเป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 19 เดือน
ขณะเดียวกันอัตราการว่างงานในกลุ่มผู้อายุน้อยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่จะเป็นข้อจำกัดของการบริโภคภายในประเทศ นอกจากนี้ การส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนยังมีข้อจำกัดจากมาตรการกีดกันทางการค้าและการลงทุนของสหรัฐฯ ที่เริ่มรุนแรงมากขึ้น
ปัญหาหนี้สินครัวเรือนยังสูง
ภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง ท่ามกลางการเพิ่มขึ้นของภาระดอกเบี้ย สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) และสัดส่วนสินเชื่อจัดชั้นพิเศษ (SMLs) ต่อสินเชื่อรวมของเอสเอ็มอีในไตรมาสที่หนึ่งของปี 2566 ยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 7.4% และ 12.2% สูงกว่า 4.7% และ 3.1% ในไตรมาสเดียวกันของปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนการแพร่ระบาด
เช่นเดียวกับสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ในไตรมาสที่หนึ่งของปี 2566 อยู่ที่ 90.6% ลดลง เล็กน้อยเมื่อเทียบกับ 91.4% ในไตรมาสก่อน แต่ยังคงสูงกว่าเมื่อเทียบกับ 82.7% ในไตรมาสเดียวกันของปี 2562
ทั้งนี้ ภาระหนี้สิน ของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง จะเป็นข้อจำกัดต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศและความสามารถในการชำระหนี้ภายใต้อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจเอสเอ็มอี ครัวเรือนรายได้น้อย
รวมทั้งลูกหนี้ภาคเกษตรกรรมที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการ ของภาครัฐที่สิ้นสุดลง รวมถึงลูกหนี้กลุ่มเปราะบางของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐและผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (non-bank) ที่ยังไม่ฟื้นตัวจากผลกระทบโควิด-19
ปัญหาด้านสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง
ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ อาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตภาคเกษตร จากการประมาณการของ World Meteorological Organization (WMO) เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2566 คาดว่า มีโอกาสถึง 90% ที่ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกจะเข้าสู่สภาวะเอลนีโญ (El Niño) ในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 โดยมีระยะเวลาประมาณ 6 - 12 เดือน
ทั้งนี้ ช่วงเดือนกรกฎาคม 2566 อุณหภูมิพื้นผิวโลกเฉลี่ยอยู่ที่ 17.23 องศาเซลเซียส สูงสุดเป็นประวัติการณ์และทำให้หลายประเทศต้องเผชิญกับคลื่นความร้อน (Heat Wave) อย่างรุนแรง
สำหรับประเทศไทย อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยในช่วงเดือนกรกฎาคม 2566 อยู่ที่ 39.3 องศาเซลเซียส สูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติ 0.9 องศาเซลเซียส
นอกจากนี้ ยังส่งผลให้ปริมาณน้ำฝน มีแนวโน้มต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติ สอดคล้องกับข้อมูลปริมาณน้ำฝนสะสมในช่วง 7 เดือนของปี 2566 ที่ต่ำกว่าระดับปกติในทุกพื้นที่ โดยต่ำกว่าค่าปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 30 ปีย้อนหลังประมาณ 5% ส่งผลให้ปริมาณน้ำในเขื่อนสำหรับฤดูกาลเพาะปลูก 2566/67 มีแนวโน้มที่จะอยู่ในระดับต่ำและอาจจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตภาคการเกษตรด้วย