พักหนี้ ”เกษตร-เอสเอ็มอี” คลัง ชงรัฐบาลวันนี้

11 ก.ย. 2566 | 01:14 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ก.ย. 2566 | 05:07 น.

คลังเร่งสรุปนโยบายพักหนี้เกษตร-เอสเอ็มอี 3 ปี เล็งช่วยลูกหนี้เงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านบาท ชงรัฐบาล 11 ก.ย.นี้ ด้านแจกเงินดิจิทัล จ่อขยายเพดานมาตรา 28 นำงบมาใช้

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้รับมอบนโยบายจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้พิจารณาแนวทางการพักชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ที่ยังคงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 โดยเน้นในกลุ่มลูกหนี้ที่เป็นเกษตรกร และผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่มีมูลหนี้หลักแสนบาท เพื่อเป็นการบรรเทาภาระให้แก่ลูกหนี้ ที่ผ่านมาผู้บริหารธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ได้มาเข้ามาหารือและเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้ว

สำหรับแนวทางการพักชำระหนี้เบื้องต้นนั้น จะพักชำระหนี้ให้เป็นระยะเวลา 3 ปี โดยพักทั้งในส่วนเงินต้นและอัตราดอกเบี้ย ซึ่งแนวทางดังกล่าว จะไม่กระทบต่อสถานการณ์จัดชั้นของลูกหนี้ กล่าวคือ ลูกหนี้ที่เข้ามาตรการจะไม่ถูกจัดชั้นเป็นลูกหนี้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เนื่องจากรัฐบาลจะเป็นผู้สนับสนุนภาระการจ่ายอัตราดอกเบี้ยให้แทนโดยแนวทางดังกล่าว ได้มีการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เรียบร้อยแล้ว

“การพักหนี้กลุ่มเกษตรกรและเอสเอ็มอีนั้น เราจะเน้นไปที่กลุ่มรายย่อยเท่านั้น ส่วนรายใหญ่ไม่เข้าข่าย และเราจะจำกัดมูลหนี้ให้อยู่ในหลักไม่เกิน 1 ล้านบาท ซึ่งรวมๆแล้ว ลูกหนี้ที่เข้าข่ายก็ไม่น่าจะถึง 90-95% ของฐานลูกหนี้เกษตรกรทั้งหมด”

ทั้งนี้ ธ.ก.ส.อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลลูกหนี้ เพื่อเตรียมเสนอต่อรัฐบาลภายในวันที่ 11 ก.ย.นี้ โดยมีแผนที่จะเสนอพักหนี้ตั้งแต่มูลหนี้ 1 แสนบาท ไปจนถึง 1 ล้านบาท กรณีพักชำระหนี้ในวงเงิน 1 ล้านบาท จะครอบคลุมลูกหนี้รายย่อยถึง 95% ของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมด

นอกจากนี้ รัฐบาลยังต้องการดูแลลูกหนี้ในกลุ่มที่เป็นหนี้สหกรณ์ หนี้ครู หนี้ตำรวจ และหนี้นอกระบบ  ขณะเดียวกัน สิ่งที่รัฐบาลเป็นห่วงมาก คือ กลุ่มลูกหนี้ที่กู้สินเชื่อรถยนต์ ซึ่งปัจจุบัน พบข้อมูลว่า เริ่มมีการค้างชำระมากขึ้น ซึ่งรัฐบาลก็อาจจะมีแนวทางเข้ามาช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มดังกล่าวด้วย 

ทั้งนี้ โครงการพักหนี้เกษตรกร ถูกริเริ่มโดยรัฐบาลทักษิณ ในช่วงปี 2544 โดยเป็นการพักหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 3 ปี สำหรับเกษตรกรรายย่อยที่มีภาระหนี้ไม่เกิน 1 แสนบาท ตั้งแต่ 1 เมษายน 2544 จนถึง 31 มีนาคม2547 และกรณีที่ไม่ต้องการพักหนี้ โดยมีเกษตรกรที่เข้าโครงการนี้ 2.25 ล้านราย คิดเป็นกว่า 90 % ของผู้มีสิทธิเข้าโครงการ โดยรัฐบาลจะลดภาระดอกเบี้ยให้ ราว 1.8 หมื่นล้านบาท

สำหรับแนวนโยบายการแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทนั้น กระทรวงการคลังได้ร่วมหารือถึงแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ โดยการขยายกรอบวงเงินการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณตามมาตรา 28 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ซึ่งแหล่งเงินจะนำมาจากสถาบันการเงินของรัฐ ก็เป็นหนึ่งในช่องทางที่ไม่มีการปิดช่องไว้ อย่างไรก็ดี แหล่งเงินหลักก็จะยังมาจากงบประมาณ โดยเงินดิจิทัล 1 บาท จะเทียบเท่ากับ เงิน 1 บาท ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องมีเงินบาทรองรับมาตรการดังกล่าว 

“เราประเมินว่า เม็ดเงินที่เราแจกไปนั้น จะมีการใช้จ่ายทันที โดยอาจจะใช้จ่ายหมดภายใน 1 สัปดาห์ ดังนั้น จึงจะเข้าไปช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ทันที ขณะเดียวกัน เงินดังกล่าวยังจะหมุนในระบบเศรษฐกิจอีกหลายรอบ หรือ ราว 4 รอบ โดยรอบสุดท้าย ซึ่งจะเป็นรอบที่ร้านค้านำเงินมาขึ้นกับรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลจะต้องนำเงินมาจ่ายให้กับร้านค้า ในรอบนี้ อาจจะมีระยะเวลาที่เลื่อนออกไปบ้าง เพื่อให้รัฐบาลสามารถจัดสรรงบประมาณมาจ่ายได้ โดยไม่กระทบกับวงเงินงบประมาณโดยรวมมากนัก”