thansettakij
เดลต้าฯ ชี้ช่องฝ่าความท้าทายประเทศไทย ยกระดับนวัตกรรมตอบโจทย์เทรนด์โลก

เดลต้าฯ ชี้ช่องฝ่าความท้าทายประเทศไทย ยกระดับนวัตกรรมตอบโจทย์เทรนด์โลก

20 ก.ย. 2566 | 09:30 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ก.ย. 2566 | 09:42 น.

“โลกเปลี่ยน ไทยปรับ” คือกุญแจสำคัญที่ “เคเค ชอง” คีย์แมน บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ฯ นำเสนอเป็นแนวทางฝ่าความท้าทายประเทศไทย ท่ามกลางการค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงและภูมิรัฐศาสตร์ที่ทำให้โลกแบ่งขั้ว บริษัทเทคโนโลยีจำเป็นต้องพัฒนาตัวเองรับ "เมกะเทรนด์" ที่เกิดขึ้น

 

นายเคเค ชอง หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การตลาด การสื่อสาร และการพัฒนาความยั่งยืน บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวใน งานสัมมนา Thaland Challenge:ความท้าทายประเทศไทย จัดโดยฐานเศรษฐกิจ มัลติมีเดีย และสื่อเครือเนชั่น ณ  โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ วันที่ 20 ก.ย.2566 ในหัวข้อ “โลกเปลี่ยน ไทยปรับ”  (Adjusting to a Transforming Landscape) ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอาจเป็นได้ทั้งโอกาสและความท้าทาย ดังจะเห็นได้ว่าภูมิทัศน์ทางการค้าที่เปลี่ยนแปลงไป การเผชิญหน้าระหว่างจีน-สหรัฐอเมริกา ทำให้เกิดการแบ่งขั้วชัดเจนด้านซัพพลายเชนโลก ดังที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมเซมิคอนดัคเตอร์ ขณะเดียวกัน การที่ประชาคมโลกมีมติร่วมกันในการรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (climate chane) ก็ได้ทำให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการผลิตในฐานะผู้(ถลุง)ใช้ทรัพยากรโลก ต้องเผชิญกับมาตรการที่เกี่ยวเนื่องกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงภายใต้สหประชาชาติ) เช่นมาตรการ CBAM ของสหภาพยุโรป (อียู) หรือมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน เป็นต้น

นายเคเค ชอง หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การตลาด การสื่อสาร และการพัฒนาความยั่งยืน บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) นายเคเค ชอง หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การตลาด การสื่อสาร และการพัฒนาความยั่งยืน บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

นั่นหมายความว่า อียูกำลังจะนำภาษีคาร์บอนมาใช้ โดยการกำหนดราคาสินค้านำเข้าบางประเภทเพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเข้ามาในตลาดอียู แต่พร้อมๆ กับความท้าทายเหล่านี้ ก็มีโอกาสทางธุรกิจตามมาด้วยเช่นกัน

โดยกรณีของการแบ่งขั้นซัพพลายเชนนั้น ไม่ว่าจะเป็นขั้วจีนซึ่งมีโครงการความริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative) หรือขั้วสหรัฐที่มีกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework) ต่างก็มีความริเริ่มที่เอื้อประโยชน์ต่อประเทศที่เป็นพันธมิตร นอกจากนี้ ไทยเองยังเป็นจุดหมายปลายทางของบริษัทผู้ลงทุนต่างชาติในการที่จะโยกย้ายเข้ามาตั้งฐานการผลิตเมื่อแหล่งผลิตในประเทศอื่นๆ มีต้นทุนสูงขึ้นหรือไม่ได้สร้างความได้เปรียบอีกต่อไป (reshoring destination)

โลกเปลี่ยน ไทยปรับ โลกเปลี่ยน ไทยปรับ

“ส่วนกรณีของ CBAM ก็เป็นที่แน่นอนชัดว่า ผู้ที่ปรับตัวให้เข้ากับบรรดามาตรการที่สอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน (ESG)ซึ่งย่อมาจาก Environment, Social, และ Governance ก็จะได้สิทธิประโยชน์ในการส่งสินค้าเข้าตลาดอียูเหนือบริษัทที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้” ผู้บริหารของเดลต้า เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมเพาเวอร์ซัพพลายและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งธุรกิจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ด้านการจัดการระบบกำลังไฟฟ้าที่ใช้ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ ไปจนถึงธุรกิจพลังงานทดแทน และอุปกรณ์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) กล่าวว่า การขยับตัวเองขึ้นไปสู่ระดับบน หรือยกระดับห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) นั้น ถือเป็นหัวใจสำคัญในการฝ่าความท้าทายต่างๆที่กล่าวมา

“การปรับตัวด้วยการพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ คือกุญแจความสำเร็จที่ทำให้เราเติบโตได้ถึง 104% แม้ในช่วงที่ต้องเผชิญการแพร่ระบาดของโควิดคือช่วงระหว่างปี 2019-2022 ทำรายได้ 3,300 ล้านดอลลาร์ในปีที่ผ่านมา และคว้ารางวัลด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนมากมายหลายรางวัล รวมทั้ง Thailand Energy Award คือ เราไม่หยุดยั้งที่จะพัฒนาบุคลากร งานวิจัย และนวัตกรรมเทคโนโลยี ที่ตอบโจทย์กระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงไปในระดับ mega trends”

นายชองกล่าวว่า การผลิตแบบต้นทุนต่ำจะกลายเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่ยั่งยืน ที่กล่าวเช่นนี้เพราะ นี่เป็นภาคส่วนที่ไร้แรงงานที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญระดับสูง และเมื่อเป็นเช่นนั้นก็จะขาดศักยภาพในการพัฒนาสินค้าที่เป็นนวัตกรรมของตัวเอง และสินค้าที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง นอกจากนี้ ต้นทุนค่าแรงที่พุ่งขึ้น ยังทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านของไทย ไม่ว่าจะเป็นลาว เมียนมา (ในแง่อุตสาหกรรมต้นทุนต่ำ) อีกความท้าทายคือ ไทยยังคงเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทยในระยะยาว

“การยกระดับการผลิต ปรับตัวสู่การเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า  ตามที่ไทยได้ประกาศนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และอุตสาหกรรม 4.0 จะทำให้ผู้ประกอบการได้รับประโยชน์อย่างมาก ประการแรก คือ ไทยจะมีรายได้เฉลี่ยประชากร (GDP per capita) เพิ่มขึ้นจากต้นทุนแรงงานและวัตถุดิบการผลิตที่ลงทุนไป ได้สร้างสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ยังจะมีการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันของไทยสูงขึ้น พึ่งพาตัวเองได้ และมีความพร้อมในการรับมือกับความท้าทายต่างๆในอนาคตได้ดียิ่งขึ้น และเมื่อเป็นเช่นนั้น ไทยก็จะมีแรงดึงดูดบริษัทต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงมากขึ้นด้วย” 

สำหรับเดลต้าฯนั้น มีการลงทุนด้าน R&D ในไทยมายาวนานมากกว่าสองทศวรรษแล้ว เรียกว่าตั้งแต่เริ่มต้นก่อตั้งเลยก็ว่าได้ ในแง่การพัฒนาบุคลากร บริษัทยังให้ความสำคัญกับการฝึกอบรมเพิ่มทักษะ-บ่มเพาะบุคลากรอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการให้ทุนการศึกษานักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆในด้านวิศวกรรม เนื่องจากมองว่า การขาดแคลนบุคลากรทางด้านวิศวกรรมยังเป็นปัญหาใหญ่ของไทย และจะเป็นอุปสรรคต่อแผนการยกระดับภาคอุตสาหกรรมสู่ยุค 4.0

เขายังฝากข้อคิดทิ้งท้ายว่า ไทยเป็นประเทศที่มีพื้นฐานที่แข็งแกร่งและมีศักยภาพ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไทยผ่านวิกฤตหลายอย่างทั้งด้านเศรษฐกิจ และการเมือง นักวิเคราะห์ต่างชาติมองว่าไทยคงย่ำแย่และใช้เวลาฟื้นตัวหลายปี แต่ไทยก็สร้างเซอร์ไพรส์เสมอๆ ด้วยการฟื้นตัวจากวิกฤตเหล่านั้นด้วยการแข็งแกร่งขึ้นกว่าเดิม นอกจากนี้ เขายังอยากเห็นคนไทยซึ่งมีความคิดสร้างสรรค์ มีความสามารถ เปิดตัวเปิดใจก้าวออกไปสู่โลกกว้าง มีวิสัยทัศน์ระดับโลกมากขึ้น และออกไปแสดงความสามารถให้โลกได้รับรู้