ดีเลย์ 2 ปี “คมนาคม” สั่งรื้อแผนสร้างแทรมภูเก็ต 3.3 หมื่นล้าน

29 ก.ย. 2566 | 08:27 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ก.ย. 2566 | 09:13 น.

“คมนาคม” ชะลอแผนสร้างแทรมภูเก็ต 3.3 หมื่นล้านบาท เตรียมรุกโครงข่ายถนน-ทางด่วน แก้รถติดก่อน สั่งรฟม.ทบทวนใหม่ใช้ระบบแทรมล้อเหล็ก กระทบแผนโครงการดีเลย์ 2 ปี

ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมมีแผนให้รฟม.พิจารณาแนวทางในการลดต้นทุนโครงการโดยเปลี่ยนทางวิ่งใต้ดินและทางวิ่งยกระดับเป็นทางวิ่งระดับดิน และนำระบบรถไฟฟ้าล้อยาง หรือระบบ EBRT มาใช้ ทบทวนอัตราค่าโดยสารเพื่อดึงดูดให้ประชาชนหันมาใช้บริการมากขึ้น แต่ปัจจุบันมีการศึกษาใหม่กลับมาใช้ในรูปแบบแทรมล้อเหล็กตามเดิม

 

นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการระบบขนส่งมวลชน (แทรม) จังหวัดภูเก็ต ระยะทางรวม 58.5 กิโลเมตร (กม.) นั้น เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2566 เบื้องต้นที่ประชุมการเตรียมข้อมูลระบบคมนาคมขนส่งในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต โดยมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุม ได้มีข้อสั่งการให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ปรับแผนทบทวนเพื่อดำเนินโครงการฯ ใหม่ เนื่องจากในปัจจุบันกระทรวงมีแผนให้กรมทางหลวง (ทล.)และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เร่งดำเนินการก่อสร้างโครงการถนนที่เชื่อมต่อทางหลวงสาย 4027 และโครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดก่อน หากดำเนินการก่อสร้างไปพร้อมกันจะทำให้การจราจรไม่สะดวกต่อประชาชนผู้ใช้บริการ

“ในส่วนของรูปแบบโครงการแทรมภูเก็ตยังใช้รูปแบบรถไฟฟ้ารางเบา ซึ่งเป็นแทรมตามเดิม โดยรมว.คมนาคมได้มอบหมายให้รฟม.ศึกษาร่วมกับเอกชนในการนำรถไฟฟ้าแทรมในรูปแบบอีวีมาปรับใช้ให้เกิดความทันสมัย รวมทั้งพิจารณาเรื่องค่าโดยสารด้วย หากค่าโดยสารมีราคาแพงจะไม่เกิดการจูงใจให้ประชาชนมาใช้บริการ”

 

นายชยธรรม์ กล่าวต่อว่า โครงการระบบขนส่งมวลชน (แทรม) จังหวัดภูเก็ต ถือเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน 2 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.กลุ่มนักท่องเที่ยว 2.กลุ่มประชาชนในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตที่ใช้บริการเส้นทางทุกวัน โดยรมว.คมนาคมยังมอบหมายให้พิจารณาค่าโดยสารที่เหมาะสมแก่นักท่องเที่ยว เพื่อให้มีต้นทุนค่าใช้จ่ายเพียงพอสำหรับโครงการทั้งหมด ซึ่งจะทำให้รฟม.สามารถเก็บค่าโดยสารในราคาถูกแก่ประชาชนในพื้นที่ได้ คาดว่าจะใช้ระยะเวลาดำเนินการศึกษาทบทวนโครงการประมาณ 2 ปี หรือภายในปี 2569 ก่อนนำเสนอต่อกระทรวงคมนาคมพิจารณาอีกครั้ง

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า รูปแบบระบบรถไฟฟ้าของ แทรมภูเก็ตใช้รูปแบบแทรมล้อเหล็ก โดยใช้ระบบรางแบบ Steel rails and Switch rail เบื้องต้นรฟม.มองว่าแนวเส้นทางโครงการดังกล่าวจะมีจุดตัดต่างระดับ ซึ่งมีทางลอดใต้ถนนผ่านบริเวณพื้นที่ที่สำคัญ โดยรมว.คมนาคมมีแผนให้ทล.และกทพ.ดำเนินการพัฒนาโครงข่ายถนนเพื่อเป็นทางเลือกให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางจากสนามบินภูเก็ตเข้าในเมืองก่อน หากมีการดำเนินการของรถไฟฟ้าไปพร้อมกันจะทำให้การปรับปรุงโครงข่ายไม่สามารถดำเนินการได้ อาจจะต้องพึ่งการขนส่งทางน้ำเพียงอย่างเดียว

 

 “หากใช้ระยะเวลาดำเนินการศึกษาโครงการแทรมภูเก็ตภายใน 2 ปี คาดว่าจะต้องมีการปรับงบประมาณเพิ่มขึ้นประมาณ 10% จากเดิมที่คาดว่าจะใช้งบประมาณอยู่ที่ 33,401 ล้านบาท เนื่องจากต้นทุนโครงการอาจมีมูลค่าสูงตามสถานการณ์อัตราเงินเฟ้อและราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นในช่วงนั้นๆด้วย”

ดีเลย์ 2 ปี “คมนาคม” สั่งรื้อแผนสร้างแทรมภูเก็ต 3.3 หมื่นล้าน

นายภคพงศ์ กล่าวต่อว่า ส่วนการพิจารณาค่าโดยสารของแทรมภูเก็ตในเบื้องต้นนั้น กรณีที่ประชาชนต้องการเดินทางเข้าเมืองโดยใช้บริการรถไฟฟ้าแทรมจะต้องขึ้นที่สถานีบนทางหลวงสาย 4027-ห้าแยกฉลอง จะใช้ราคาค่าโดยสารอยู่ที่ 20 บาทตลอดสาย (Fix Rate) ขณะที่ประชาชนหรือนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางเข้า-ออกสนามบินภูเก็ต ระยะทางประมาณ 4-5 กิโลเมตร (กม.) จะต้องจ่ายค่าโดยสารอยู่ที่ 50 บาท ซึ่งเป็นการเพิ่มค่าโดยสาร (Surcharge) อีกประมาณ 30 บาท จากเดิมที่มีราคา 20 บาท ตลอดสาย

 

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า โครงการระบบขนส่งมวลชน (แทรม) จังหวัดภูเก็ต ระยะทางรวม 58.5 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 33,401 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 1,499 ล้านบาท ค่างานก่อสร้างงานโยธา 22,770 ล้านบาท ค่างานระบบรถไฟฟ้า 3,217 ล้านบาท ค่าจัดหาขบวนรถ 3,061 ล้านบาท ค่าที่ปรึกษา 1,427 ล้านบาท ค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด 1,427 ล้านบาท

 

ทั้งนี้ตามแผนจะดำเนินการปรับปรุงรายงาน PPP ภายในเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน 2566หลังจากนั้นจะเสนอคณะทำงาน มาตรา 36 และคณะกรรมการ รฟม. พิจารณาภายในเดือนธันวาคม 2566 – มีนาคม 2567 คาดว่าจะเสนอต่อกระทรวงคมนาคม, สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) , คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบภายในเดือนเมษายน – ตุลาคม 2567 และคัดเลือกเอกชน ภายในเดือนพฤศจิกายน 2567 – ตุลาคม 2568 ซึ่งจะดำเนินการก่อสร้างงานโยธาและติดตั้งงานระบบภายในเดือนพฤศจิกายน 2568 – มกราคม 2573 พร้อมเปิดให้บริการภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2573

 

นอกจากนี้โครงการฯจะใช้รูปแบบการดำเนินโครงการ PPP Net Cost ระยะเวลาเดินรถ 30 ปี โดยเอกชนเป็นผู้จัดเก็บค่าโดยสารและรับความเสี่ยงด้านรายได้และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ซึ่งผลการวิเคราะห์ความคุ้มค่าของโครงการทางเศรษฐกิจ พบว่า อัตราผลประโยชน์ทางเศรษฐศาสตร์ของโครงการ (EIRR) อยู่ที่ 13.66% อัตราผลตอบแทนภายใน (IRR) อยู่ที่ 9.75% มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) อยู่ที่ 4,722.17 ล้านบาท อัตราส่วนผลตอบแทนต่อต้นทุน (B/C) อยู่ที่ 1.22 เท่า เมื่อโครงการเปิดให้บริการปีแรกคาดว่าผู้โดยสารอยู่ที่ 57,010 คนเที่ยว-วัน และในปีที่ 30 จะมีผู้โดยสารใช้บริการอยู่ที่ 164,662 คนเที่ยว-วัน

 

  สำหรับโครงการระบบขนส่งมวลชน จังหวัดภูเก็ต แบ่งการก่อสร้างเป็น 2 ระยะ ระยะทางรวม 58.5 กิโลเมตร (กม.) ดังนี้ ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต – ห้าแยกฉลอง ระยะทางประมาณ 41.7 กิโลเมตร (กม.) มีจำนวน 21 สถานี และระยะที่ 2 ส่วนต่อขยายเส้นทางจากจุดตัดระหว่าง ทล. 402 และ4026 เพื่อเชื่อมต่อกับระบบรถไฟที่สถานีรถไฟท่านุ่นโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายสุราษฎร์ฯ –ท่านุ่น ของ รฟท. ระยะทางประมาณ 16.8 กิโลเมตร (กม.) จำนวน3 สถานี