ไทย-อิตาลี ต่อยอด "แก้วตาพี่" ดัน Soft power อาหาร ท่องเที่ยว ลงทุน

30 ก.ย. 2566 | 01:52 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ก.ย. 2566 | 01:59 น.

ผู้แทนการค้าไทย หารือทูตอิตาลี พร้อมร่วมมือผลักดัน Soft power ปักธง อาหาร ท่องเที่ยว ต่อยอดจากนวนิยายดัง “แก้วตาพี่” เล็งเที่ยวบินตรงกรุงเทพฯ – โรม พร้อมดึงเล็งลงทุนในพื้นที่อีอีซี

นางนลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้หารือกับนายเปาโล ดีโอนีซี เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิตาลีประจำประเทศไทย ว่า ไทยและอิตาลีเห็นตรงกันในการผลักดันเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศ โดยใช้ Soft power ด้านอาหารเป็นจุดขายหลักในการส่งเสริมการพัฒนาระหว่างกัน 

ทั้งนี้เนื่องจากทั้งไทยและอิตาลีต่างมีอาหารประจำชาติที่โดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ด้วยการส่งเสริมให้ประชาชนแต่ละฝ่ายรู้จักอาหารของอีกฝ่ายมากขึ้น ในประเทศไทยนั้นมีร้านอาหารอิตาเลียนมากกว่าคนอิตาเลียน และอาหารอิตาเลียนก็ถูกปากคนไทย 

เช่นเดียวกับสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งในอิตาลีก็เป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวไทย ที่ผ่านมาเรามีนวนิยายเรื่อง "แก้วตาพี่" ของโรสลาเรน ซึ่งมีฉากสำคัญเป็นเมืองต่าง ๆ ที่สวยงามในประเทศอิตาลี 

ดังนั้นการหารือครั้งนี้จึงเป็นโอกาสดีที่ฝ่ายไทยได้เชิญชวนและจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้คนอิตาเลียนมาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น เพราะจากข้อมูลสถิติพบว่านักท่องเที่ยวชาวอิตาเลียนเดินทางมายังประเทศไทยน้อยกว่าที่คนไทยไปอิตาลีถึง 10 เท่า

 

ผู้แทนการค้าไทย หารือกับเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิตาลี ถึงการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว

นางนลินี กล่าวด้วยว่า ในด้านการค้าการลงทุน อิตาลีเล็งเห็นว่าไทยเป็นจุดศูนย์กลางของภูมิภาคที่มีศักยภาพและน่าสนใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบขนส่งทางราง รถไฟความเร็วสูงเทคโนโลยีดิจิทัล และการจัดหายุทโธปกรณ์ 

ที่ผ่านมาการรถไฟสาธารณรัฐอิตาลีได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับกลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ชนะการประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งจะสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยเป็นมูลค่า 650,000 ล้านบาท และเกิดการจ้างงานในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกว่า 16,000 อัตรา 

นอกจากนี้ อิตาลียังได้ผลักดันการจัดตั้งสภาธุรกิจทางอิตาลีเมื่อปี 2558 เพื่อเป็นช่องทางการติดต่อโดยตรงระหว่างภาคเอกชน ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทสำคัญของไทยและอิตาลีเป็นสมาชิกกว่า 40 บริษัท แต่ในภาพรวมนักลงทุนของอิตาลียังไม่คุ้นเคยกับการลงทุนในประเทศไทยมากนัก 

ดังนั้นจึงเป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลทั้งสองประเทศจะต้องส่งเสริมในเรื่องนี้ และไทยก็สามารถใช้อิตาลีเป็นประตูสู่ยุโรปได้เช่นกัน โดยอิตาลีพร้อมสนับสนุนในด้านต่าง ๆ เช่น โลจิสติกส์ การส่งออก ความปลอดภัยด้านอาหาร เป็นต้น 

“ทูตอิตาลียังแสดงความสนใจเรื่องเที่ยวบินตรงกรุงเทพฯ - โรม ของสายการบินไทย ที่ช่วยให้การเดินทางของนักลงทุนและประชาชนของทั้งสองประเทศ เป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้นอีก" นางนลินี ระบุ

 

ผู้แทนการค้าไทย หารือกับเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิตาลี ถึงการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว

สถานการณ์การค้าไทย – อิตาลี

จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ รายงานว่าในช่วง 8 เดือนของปี 2566 (มกราคม-สิงหาคม) การค้าระหว่างไทย-อิตาลี มีมูลค่า 3,531.74 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 5.21% แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 1,446.78 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.97% และการนําเข้ามูลค่า 2,084.96 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 6.09%

โดยไทยขาดดุลการค้ากับอิตาลี คิดเป็นมูลค่า 638.18 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเท่ากับติดลบ 11.24% เมื่อเทียบกับ 8 เดือนแรกของปี 2565

การส่งออกของไทยไปอิตาลี

ช่วง 8 เดือนของปี 2566 การส่งออกของไทยไปอิตาลีมีมูลค่า1,446.78 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.97% เมื่อเทียบกับช่วง 8 เดือนของปี 2565 (ที่มีมูลค่า 1,391.60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) สินค้าส่งออกที่สำคัญ 10 อันดับแรก มีดังนี้

 

การส่งออกของไทยไปอิตาลี

 

การนําเข้าของไทยจากอิตาลี

ช่วง 8 เดือนของปี 2566 ไทยนําเข้าจากอิตาลีมีมูลค่า 2,084.96 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 6.09% เมื่อเทียบกับช่วง 8 เดือนของปี 2565 (ที่มีมูลค่า 1,965.30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยสินค้านําเข้าที่สำคัญ 10 อันดับแรก มีดังนี้

 

การนําเข้าของไทยจากอิตาลี