นักวิชาการ แนะทบทวนแจกเงินดิจิทัล มุ่งเป้าคนจน อาจได้มากกว่าหมื่นบาท

09 ต.ค. 2566 | 00:01 น.

นักวิชาการ แนะรัฐบาลทบทวน นโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ใหม่ โดยไม่ให้แบบถ้วนหน้า ชี้แจกมุ่งเป้าเฉพาะคนจน อาจได้ผลมากกว่า แถมเงินจำนวนนี้อาจแจกได้มากกว่าหมื่นบาทแก้หนี้ได้จริง

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า รัฐบาลควรปรับเปลี่ยนและทบทวนหลักเกณฑ์ในการออกแบบนโยบาย แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ใหม่ โดยไม่ให้แบบถ้วนหน้า หรือไม่ควรแจกเงินให้คนมีฐานะทางเศรษฐกิจหรือไม่มีความจำเป็นทางเศรษฐกิจ 

ทั้งนี้เป็นเพราะการแจกคนกลุ่มนี้ไปก็ไม่ได้มีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจแต่อย่างใด เช่น การให้บุคคลผู้มีรายได้สูง ผู้บริหารภาคเอกชน และ ข้าราชการระดับสูง ซึ่งการทบทบวนเกณฑ์ และใช้งบประมาณน้อยลง จะช่วยลดความเสี่ยงทางการคลัง เพราะเม็ดวงเงินการทำนโยบายที่สูงถึง 5.6 แสนล้านบาทนั้น รัฐบาลหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องกู้เงินในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง 

อีกทั้งยังจะทำให้มีเงินเหลือไปใช้ในโครงการอื่น ๆ ที่มีประโยชน์ หรือ เพิ่มเงินให้กับครอบครัวที่ยากจนที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวได้ แทนที่จะให้ 10,000 บาท อาจให้ 20,000-30,000 บาทก็ได้ โดยมุ่งเป้าไปที่ครอบครัวยากจน หรือครอบครัวที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว และกลุ่มเปราะบาง (ผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการที่ไม่มีงานทำ) เพื่อให้มีเงินเพิ่มมากพอที่จะนำไปลงทุนประกอบอาชีพ เพื่อหลุดพ้นจากความยากจนและกับดักแห่งการเป็นหนี้ได้

 

ภาพประกอบข่าวนโยบาย แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet

“การแจกเงินให้คนรวยจะไม่ตรงเป้าหมาย และ อาจเป็นการยัดเยียดเอาเงินที่รัฐบาลไปกู้มาแจกให้กลุ่มผู้มีรายได้สูง โดยที่พวกเขาไม่ต้องการและไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่ต้องได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล ต่างจากการแจกเงินมุ่งเป้าไปที่คนยากจนเดือดร้อน ถือเป็นการใช้เงินงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า”

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวว่า หากเทียบกับมาตรการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยผ่านสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งมียอดการเข้ามาลงทะเบียน 22.20 ล้านคน หากรัฐบาลแจกเงินให้คนกลุ่มนี้แบบไม่มีใครตกหล่น จะใช้เงินเพียง 2.22 แสนล้านบาทเท่านั้น และการแจกเงิน 2.22 แสนล้านบาท ให้กับคนมีรายได้น้อย หรือมีรายได้ปานกลางระดับล่าง จะมีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ต่างจากการแจกเงินดิจิทัลแบบถ้วนหน้า 5.6 แสนล้านบาท อย่างมีนัยสำคัญ

 

ภาพประกอบข่าวนโยบาย แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet

นอกจากนี้ รัฐบาลควรมีนโยบายและมาตรการพัฒนาทักษะสำหรับแรงงานไทยที่เทคโนโลยี AI ทำแทนไม่ได้ ซึ่งถือเป็นการใช้งบประมาณในการเดินหน้าลงทุนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และนวัตกรรมรวมทั้งการฟื้นและสร้างเศรษฐกิจบนฐานการลงทุนอย่างยั่งยืน มากกว่าการใช้เงินไปบนฐานการกระตุ้นการบริโภคระยะสั้นด้วย