วันนี้ (25ต.ค.66) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นกล่าวปาฐกถาพิเศษในงานประชุมสามัญประจำปีของคณะนักธุรกิจจากหอการค้าอเมริกันในประเทศไทย (AMCHAM’s Annual General Meeting) ภายใต้หัวข้อ “Thailand’s Trajectory : The Future is Bright”
นายกรัฐมนตรีแสดงความยินดีอย่างยิ่งในโอกาสที่ได้เข้าร่วมการประชุมสามัญประจำปีของ AMCHAM ประจำปี 2566 โดยเน้นย้ำว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการส่งเสริมนโยบายด้านเศรษฐกิจเป็นลำดับแรก รวมทั้งพร้อมส่งเสริมการมีส่วนร่วมเชิงรุกของไทยกับมิตรระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ รัฐบาลได้ดำเนินการในการผลักดันความร่วมมือด้านเศรษฐกิจกับนานาประเทศไปแล้วบางส่วนในห้วงการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (UN General Assembly: UNGA) ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยสหรัฐฯ ถือเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของไทย และยังเป็นอันดับ 3 ในด้านการลงทุน ด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีที่แล้ว หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเพิ่มตัวเลขเหล่านี้ให้มากขึ้นในปีต่อ ๆ ไป พร้อมเน้นย้ำว่า “ประเทศไทยเปิดกว้างสำหรับธุรกิจ และขณะนี้ถึงเวลาลงทุนในไทยแล้ว”
นายกรัฐมนตรีได้ตอบคำถามว่าประเทศไทยมีโอกาสอะไรให้นักธุรกิจสหรัฐฯ ว่ารัฐบาลมีวิสัยทัศน์ที่เปิดกว้าง ยั่งยืน และครอบคลุม โดยยึด 3 ประเด็นสำคัญที่ทำให้ไทยร่วมมือกับธุรกิจของสหรัฐฯ ดังนี้
ประเด็นแรก ความยั่งยืน เป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินงานในทุกภาคส่วน ผ่านการริเริ่มโครงการเศรษฐกิจสีเขียวและการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานหมุนเวียน ซึ่งไทยมีความพยายามอย่างแน่วแน่ที่บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2050 ซึ่งไทยพร้อมรองรับการลงทุนและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ของสหรัฐฯ ในด้านพลังงานทดแทน เทคโนโลยีไฮโดรเจน ระบบกักเก็บพลังงาน รวมไปถึงเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS)
พร้อมกล่าวเชิญชวนกลุ่มธุรกิจให้ร่วมเป็นหุ้นส่วนที่ทันสมัยของประเทศไทย ซึ่งจะสำคัญต่อการขับเคลื่อนการเติบโตอย่างยั่งยืน ตั้งแต่ภาคการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ การเกษตรขั้นสูง เทคโนโลยีชีวภาพ ไปจนถึงยานยนต์ไฟฟ้า (EVs) ขณะเดียวกันในด้านการเงินเพื่อความยั่งยืน รัฐบาลยังมีแนวทางที่จะออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (SLBs) เพิ่มขึ้น และยินดีต้อนรับนักลงทุนในสหรัฐฯ ให้เป็นส่วนหนึ่งการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน (ESG) และต่อความมุ่งมั่นต่อสภาพภูมิอากาศ
ประเด็นที่สอง การสร้างการทำงานร่วมกันกับพันธมิตร รัฐบาลจะดำเนินการทูตเชิงรุกและเชื่อมโยงพันธมิตร ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก และเพื่อปรับปรุงการเชื่อมต่อในระดับภูมิภาค รัฐบาลวางแผนที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย เช่นเมื่อสัปดาห์ที่แล้วคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ออกแบบการศึกษาและแผนการดำเนินงานโครงการแลนด์บริดจ์ (LandBridge) สะพานเศรษฐกิจภาคใต้ที่เชื่อมระหว่างจังหวัดระนองฝั่งทะเลอันดามันกับจังหวัดชุมพรฝั่งอ่าวไทย ถือเป็นโครงการขนาดใหญ่ภายใต้แนวคิด “หนึ่งท่าเรือ สองฝั่ง” (one port, two sides) ที่จะช่วยลดระยะเวลาในการเดินทางผ่านช่องแคบมะละกา เพิ่มขีดความสามารถด้านโลจิสติกส์ของไทย โดยขอเชิญชวนนักลงทุนสหรัฐฯ เข้าร่วมโครงการนี้ด้วย
นอกจากนี้ รัฐบาลยังมุ่งหวังที่จะเร่งการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศเศรษฐกิจสำคัญ ๆ เพื่อขยายตลาดส่งออกของไทย รวมทั้งเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของไทยภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด – แปซิฟิก (IPEF) ซึ่งไทยจะทำงานอย่างใกล้ชิดและไม่เหน็ดเหนื่อยกับสหรัฐฯ และพันธมิตร IPEF อื่น ๆ เพื่อเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทานให้แข็งแกร่ง เพิ่มโอกาสทางการค้าและการลงทุน
ประเด็นที่สาม การเติบโตผ่านเศรษฐกิจดิจิทัล ประเทศไทยมีระบบนิเวศดิจิทัลที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และได้รับแรงผลักดันจากจำนวนประชากรที่เข้าใจเทคโนโลยีมากขึ้น กลยุทธ์เศรษฐกิจดิจิทัลที่มุ่งเน้นอนาคตและมีที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรัฐบาลมีเป้าหมายที่จะพัฒนาระบบนิเวศนี้ให้เข้มแข็งด้วยการใช้นโยบายและมาตรการเชิงนวัตกรรมหลายประการ รวมทั้งการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนที่กำลังจะมีขึ้นในช่วงสัปดาห์ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (AELW) ในเดือนพฤศจิกายนนี้ จะช่วยพัฒนาวิสัยทัศน์ดังกล่าว
ไทยมีความก้าวหน้ามากในด้านธุรกิจและเทคโนโลยีในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีชื่อเสียงในด้านภาคการผลิตที่มีความยืดหยุ่น มีโครงสร้างพื้นฐานและการเชื่อมต่อที่มีคุณภาพ e-commerce เศรษฐกิจดิจิทัลที่กำลังเติบโต และแรงงานที่มีทักษะ โดยหวังว่าจะได้ร่วมงานเพิ่มเติมกับสมาชิก AMCHAM และธุรกิจอื่น ๆ ในสหรัฐฯ เพื่อใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี องค์ความรู้ และทรัพยากรอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนการเติบโตของระบบนิเวศดิจิทัล ทั้งในแง่ของการลงทุนและการพัฒนาทักษะบุคลากร
นายกรัฐมนตรีกล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีนี้ ไทยและสหรัฐฯ เฉลิมฉลองครบรอบ 190 ปีความสัมพันธ์ทางการทูต ซึ่งขอให้ทั้งสองฝ่ายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันเพื่อผลประโยชน์และความเจริญรุ่งเรืองของประชาชนของเรา โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงวลี “Trade flies the flag” สะท้อนความสัมพันธ์ไทย - สหรัฐฯ ที่เน้นการค้าเป็นหลัก ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง
ซึ่งเป็นเวลาเกือบสองศตวรรษ นับตั้งแต่สนธิสัญญาไมตรีและพาณิชย์ ค.ศ. 1833 จวบจนปัจจุบัน ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศยังคงแข็งแกร่งและเจริญรุ่งเรือง โดย AMCHAM สามารถทำหน้าที่เป็นตัวแทนของการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเพื่อเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจให้มากขึ้น โดยทุกคนสามารถมีบทบาทที่สร้างสรรค์ในฐานะ “ทูตการค้า” ช่วยเหลือผู้อื่นในด้านการค้า การลงทุน ตลอดจนเสนอแนะวิธีการสร้างความร่วมมือใหม่ ๆ
นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า “ขณะนี้ถึงเวลาที่จะลงทุนในไทยแล้ว” ซึ่งประเทศไทยเปิดกว้างและพร้อมเป็นพันธมิตรที่เชื่อถือได้ สามารถเป็นห่วงโซ่อุปทานที่หลากหลายและยืดหยุ่น เป็นประเทศไทยที่ยั่งยืน ผสานความร่วมมือเพื่อสร้างโอกาสอันยิ่งใหญ่ร่วมกัน พร้อมเชื่อมั่นว่า เราสามารถก้าวไปสู่อนาคตที่สดใสและแบ่งปันความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันได้ ในขณะที่ทั้งสองประเทศพัฒนาจนกลายเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น และเป็นพันธมิตรที่ครอบคลุมมากขึ้น