“เอกชน”ขานรับ รถไฟทางคู่หาดใหญ่-ปาดังฯ ดึงนักท่องเที่ยวมาเลย์

01 พ.ย. 2566 | 08:00 น.
อัปเดตล่าสุด :01 พ.ย. 2566 | 08:12 น.

ภาคเอกชนสงขลา ขานรับรัฐบาลเร่งเดินหน้าโครงการรถไฟทางคู่หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ชี้ส่งผลดีท่องเที่ยวในพื้นที่ หากแล้วเสร็จเตรียมเสนอเปิดเดินรถประจำระหว่างประเทศไทย-มาเลเซีย

จากกรณีนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม สั่งให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ปรับแผนการดำเนินโครงการทางคู่ระยะที่ 2 (เฟส2)โดยให้นำช่วงชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กิโลเมตร วงเงิน 7,864 ล้านบาท มาดำเนินการลำดับแรก ๆ จากเดิมช่วงชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ถูกจัดลำดับความสำคัญไว้ในอันดับสุดท้ายของแผนดำเนินงาน

ดร.ไพโรจน์  ชัยจีระธิกุล อุปนายกสมาคมโลจิสติกส์และขนส่งภาคใต้ กล่าวว่า โครงการรถไฟทางคู่หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ หากเกิดขึ้นจะส่งผลต่อการท่องเที่ยวเป็นหลัก เพราะการขนส่งยังมีข้อจำกัดเรื่องเวลาเข้าออกของรถขนส่ง ดังนั้นโครงการรถไฟทางคู่หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ เป็นสิ่งที่ดีสำหรับการท่องเที่ยว  น่าจะช่วยให้ดึงนักท่องเที่ยวจากประเทศมาเลเซีย เดินทางตรงเข้ามาถึงอ.หาดใหญ่ได้สะดวกขึ้น 

ดร.ไพโรจน์ กล่าวว่าสิ่งที่ต้องคิดต่อคือ เมื่อมีรถไฟทางคู่หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์แล้ว  ทำอย่างไรให้จัดขบวนรถไฟจากมาเลเซียวิ่งเข้ามาถึงสถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่ได้ เพราะการจัดขบวนรถไฟจากมาเลเซียเข้ามาหาดใหญ่ มีปริมาณคนมาเลเซียมาเที่ยว หรือมีคนไทยไปทำงานฝั่งมาเลเซียเพียงพอหรือไม่  ดังนั้นโครงการรถไฟทางคู่หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ จึงถือว่าดี  จากเดิมถูกจัดอันดับสุดท้าย แต่ถ้าขยับขึ้นเป็นลำดับต้นๆจะช่วยการท่องเที่ยวของหาดใหญ่-สงขลาได้มาก

โครงการรถไฟทางคู่หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ จะสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวเป็นหลัก ส่วนเรื่องโลจิสติกส์ ยังไม่ตอบโจทย์ เนื่องจากปัจจุบันสถานีรถไฟชุมทางรถสินค้าเข้าออกได้ไม่กี่คัน ให้นึกภาพท่าเรือน้ำลึกสงขลา จะมีรถบรรทุกสินค้าเข้าออกตลอดเวลาในถนนเส้นใหญ่ แต่สถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่ ปัจจุบันถนนมี 2 เลนเท่านั้น รวมถึงการกำหนดช่วงเวลาที่รถบรรทุกสินค้าห้ามเข้า โดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วน จึงเป็นอุปสรรคสำหรับรถบรรทุกสินค้า
        “เอกชน”ขานรับ รถไฟทางคู่หาดใหญ่-ปาดังฯ ดึงนักท่องเที่ยวมาเลย์

 

สถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่ปัจจุบันแบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง ฝั่งผู้โดยสารจะอยู่ฝั่งหนึ่ง ส่วนตู้สินค้าคอนเทนเนอร์จะอยู่อีกฝั่งหนึ่ง  ซึ่งลานตู้คอนเทนเนอร์ไม่ได้ใหญ่มาก ฉะนั้นการขนส่งสินค้าผ่านขบวนรถไฟหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ มีข้อจำกัดสำหรับพื้นที่สถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่ ขณะที่ท่าเรือบกปาดังเบซาร์ ฝั่งประเทศมาเลเซีย จะสะดวกกว่า แต่ถ้าเป็นนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางเข้ามาสถานีรถไฟหาดใหญ่สะดวกขึ้น ไม่ต้องรอรถ จะช่วยหนุนในด้านการท่องเที่ยวหาดใหญ่-สงขลาได้

"การบ้านของหาดใหญ่-สงขลาคือ จะนำเสนอแหล่งท่องเที่ยวอะไร เพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้ามาสะดวก ประทับใจและอยากมาอีก เพราะแหล่งท่องเที่ยวเดิม ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวที่เคยเข้ามารู้จักแล้ว จึงต้องหาสินค้าใหม่  เพื่อความหลากหลายและเชื่อมโยงกับพื้นที่ใกล้เคียง"

นายสมพล ชีววัฒนาพงศ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดสงขลา กล่าวว่า  โครงการรถไฟทางคู่หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์  เป็นโครงการที่ดี  ทำให้การคมนาคมดีขึ้น ถ้าปรับให้ขึ้นมาอยู่ในลำดับต้นจะเป็นผลดีกับหาดใหญ่-สงขลา  เพราะระยะทาง 45 กิโลเมตร สามารถดึงนักท่องเที่ยว ตั้งแต่สิงคโปร์เข้ามาได้ จะส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวของหาดใหญ่-สงขลา  

เนื่องจากนักท่องเที่ยวมาเลเซียเดินทางสะดวกขึ้น อีกทั้งการขนส่งสินค้าจะสะดวกยิ่งขึ้น เนื่องจากเป็นทางคู่ ในขณะที่อำเภอบางกล่ำ มีลานขึ้น-ลงตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งสินค้าทางรถไฟด้วย

หากโครงการรถไฟทางคู่หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์แล้วเสร็จ จะเสนอให้จัดขบวนรถไฟโดยสารระหว่างประเทศไทย-มาเลเซีย เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่าง 2 ประเทศ เนื่องจากที่ผ่านมาทางประเทศมาเลเซีย จัดขบวนรถไฟโดยสารขบวนพิเศษนำนักท่องเที่ยวมาเลเซียเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวหาดใหญ่-สงขลาอย่างต่อเนื่อง แต่เป็นการเดินทางเข้าแบบไม่ประจำ หากโครงการรถไฟทางคู่หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์แล้วเสร็จ น่าจะเปิดเดินรถไฟประจำระหว่างประเทศได้

นายณรงค์ฤทธิ์ การิกาญจน์ นายสถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่ กล่าวว่า วันที่ 11 พฤศจิกายน 2566  ขบวนรถไฟขบวนพิเศษ มายสวัสดี ของการรถไฟมาลายา ประเทศมาเลเซีย จะออกจากสถานี เคแอล เซ็นทรัล กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ปลายทางที่สถานีรถชุมทางหาดใหญ่ พร้อมผู้โดยสาร 400 คน และเดินทางกลับเที่ยวสุดท้ายวันที่ 13 พฤศจิกายน 2566

"ช่วงเดือนธันวาคม 2566 จะเป็นช่วงที่ขบวนรถไฟขบวนพิเศษ มายสวัสดี ของมาเลเซีย เข้ามามากถึง 4เที่ยว และจะเดินทางกลับ ออกจากหาดใหญ่เที่ยวสุดท้าย วันที่ 1 มกราคม 2567  นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเมืองหาดใหญ่และใกล้เคียงได้อย่างมาก"