รฟท. ชงของบปี 68 อุดหนุน PSO แตะ 5.3 พันล้าน ปั้นรายได้เพิ่ม

09 พ.ย. 2566 | 08:13 น.
อัปเดตล่าสุด :09 พ.ย. 2566 | 08:17 น.

รฟท.เดินหน้าชงงบปี 68 อุดหนุนบริการเชิงสังคม PSO วงเงิน 5.3 พันล้านบาท เล็งศึกษาแผนหารายได้ขนส่งสินค้า หวังเพิ่มสัดส่วน 30% เตรียมชงคมนาคมไฟเขียวภายใน 2 เดือน

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า สำหรับการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.เมื่อวันที่ 31 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการเสนอขอความเห็นชอบการรับเงินอุดหนุนการเงิน การให้บริการเชิงสังคม (PSO) ประจำปีงบประมาณ 2568 ซึ่งเป็นการเสนอตามระเบียบเพื่อบรรจุไว้ในการจัดสรรงบประมาณประจำปี 2568 โดยในปีงบประมาณนี้ รฟท.ศึกษากรอบวงเงินขอรับการอุดหนุน 5,301 ล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณ 2567 ที่เสนอขอไป 8,450 ล้านบาท

 

สำหรับการจัดทำคำขอความเห็นชอบรับเงินอุดหนุน PSO นั้น รฟท.ได้เสนอขอรับต่อเนื่องเพื่อชดเชยกับรายได้จากการบริการรถไฟเชิงสังคม ซึ่งสถิติการขอรับเงินอุดหนุนที่ผ่านมา รฟท.ต้องทำคำขอและผ่านการพิจารณาจากกระทรวงคมนาคม สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยวงเงินที่ได้รับอนุมัติส่วนใหญ่จะลดลงจากกรอบวงเงินคำขอ เพราะต้องผ่านการพิจารณาตรวจสอบมูลค่ายอดใช้จ่ายการเดินทางในหลายปัจจัย

   
 

ทั้งนี้จากสถิติคำขอที่ผ่านมา ประกอบด้วย ในปีงบประมาณ 2565 รฟท.ยื่นขอรับเงินอุดหนุน 7,587 ล้านบาท แต่ได้รับการอนุมัติจริงในวงเงิน 2,767 ล้านบาท ขณะที่ปีงบประมาณ 2566 รฟท.ยื่นขอรับเงินอุดหนุน 7,823 ล้านบาท โดยปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนพิจารณาวงเงินอุดหนุน รฟท.จึงยังไม่ได้รับเงินอุดหนุนดังกล่าว และในปีงบประมาณ 2567 รฟท.ได้ยื่นขอรับเงินอุดหนุน 8,450 ล้านบาท สถานะปัจจุบันยังอยู่ระหว่างรอพิจารณางบประมาณ

 

นายนิรุฒ กล่าวต่อว่า รฟท.ยังคงเดินหน้าจะให้บริการเชิงสังคมอย่างต่อเนื่อง โดยภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการยังกำหนดที่จะพัฒนาบริการเชิงสังคมด้วยรถไฟปรับอากาศ รวมไปถึงศึกษารูปแบบการรับเงินอุดหนุนจากบริการ PSO อาทิ หากผู้โดยสารที่เข้าข่ายในการรับเงินอุดหนุนการเดินทางจากรัฐบาล จะสามารถใช้จ่ายค่าโดยสารรถไฟผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีวงเงินสนับสนุนอยู่แล้ว ซึ่งแนวทางนี้จะทำให้ รฟท.ไม่ต้องทำคำขอรับเงินสนับสนุนในปีงบประมาณ อีกทั้งยังทำให้ผู้โดยสารเดินทางสะดวกมากขึ้น
 

นอกจากนี้รฟท.ยังอยู่ระหว่างศึกษาแผนจัดหารายได้จากบริการการขนส่งสินค้าให้เพิ่มสัดส่วนเป็น 30% ของรายได้ทั้งหมด ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของนายสุรพงษ์  ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ขณะนี้คณะทำงานศึกษารายได้รถโดยสารสินค้า อยู่ระหว่างจัดทำแผนดำเนินงาน คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมเสนอรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมภายใน 2 เดือนนี้ 

 

อย่างไรก็ตามเป้าหมายหลักของการศึกษามุ่งเน้นเพิ่มสัดส่วนรายได้ขนส่งสินค้าจากปัจจุบัน 3% ให้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนถึงเป้าหมาย ขณะนี้เริ่มเห็นดีมานด์ความต้องการของการขนส่งสินค้าผ่านรถไฟแล้ว แต่ต้องยอมรับว่ารฟท.ยังไม่มีซัพพลายเพียงพอที่จะรองรับ เพราะการรถไฟฯ มีจำนวนแคร่ และหัวรถจักรในจำนวนที่จำกัด อีกทั้งยังใช้เต็มขีดความสามารถแล้ว ดังนั้นหากจะเพิ่มสัดส่วนรายได้ขนส่งสินค้าให้ถึงเป้าหมาย ก็มีความจำเป็นต้องเพิ่มการจัดหาแคร่ และหัวรถจักร