พาณิชย์ ประเมินขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 10% ทำเงินเฟ้อเพิ่มสูงสุด 1.04%

27 พ.ย. 2566 | 05:32 น.
อัปเดตล่าสุด :27 พ.ย. 2566 | 05:38 น.

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ประเมินการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ผลกระทบอัตราเงินเฟ้อทั่วไป คาดหากขึ้นสัดส่วน 10% จากเดิม อาจทำเงินเฟ้อเพิ่มสูงสุด 1.04%

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยผลกระทบของการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไป โดยผลการวิเคราะห์เบื้องต้นพบว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ หรือค่าแรงขั้นต่ำ จะส่งผลต่อต้นทุนการผลิตและอัตราเงินเฟ้อไม่มากนัก เนื่องจากภาคการผลิตในภาพรวมมีค่าใช้จ่ายจากการใช้แรงงานที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำในสัดส่วนไม่สูงมากเมื่อเทียบกับต้นทุนรวม 

อีกทั้งมีข้อจำกัดและปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายประการ โดยในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลมีมาตรการลดต้นทุนด้านพลังงาน ดังนั้น ต้นทุนค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นจะส่งผ่านมายังราคาสินค้าและบริการได้อย่างจำกัด ขณะที่การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะสนับสนุนให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย และการเพิ่มผลิตภาพการผลิต ซึ่งจะเกิดผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมในระยะต่อไป

 

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)

ทั้งนี้ สนค. ได้วิเคราะห์ผลกระทบเบื้องต้นโดยใช้ตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และจำนวนผู้ใช้แรงงานที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งประมวลข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติและกระทรวงแรงงาน หากอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปรับเพิ่มขึ้นจากเดิม (โดยเฉลี่ย 337 บาทต่อวัน) ในอัตราระหว่าง 5% หรือ 353.85 บาทต่อวัน และ 10% หรือ 370.70 บาทต่อวันจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนภาคการผลิตและบริการในภาพรวม ดังนี้  

ภาคการผลิตที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบมาก คือกลุ่มที่มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายแรงงานค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับต้นทุนรวมทั้งหมด โดยมีต้นทุนจะเพิ่มขึ้นระหว่าง 0.12 – 7.75% โดยเฉพาะกลุ่มสาขาการเกษตร อาทิ 

  • การเพาะปลูกยางพารา 
  • การเพาะปลูกอ้อย 
  • การทำสวนมะพร้าว 
  • การทำไร่ข้าวโพด 
  • การทำไร่มันสำปะหลัง 
  • การปลูกพืชผัก 
  • การทำนา

ส่วนกลุ่มสาขาบริการ อาทิ  

  • การศึกษา 
  • การค้าปลีก 
  • การค้าส่ง 
  • บริการทางการแพทย์ 
  • การบริการส่วนบุคคล (การซักรีด การตัดผม เสริมสวย) 

ขณะที่ภาคการผลิตที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบน้อย คือกลุ่มที่มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายแรงงานค่อนข้างต่ำในกลุ่มสาขาอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการผลิต โดยต้นทุนจะเพิ่มขึ้นระหว่าง 0.03 – 0.65% คือ 

  • โรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม 
  • อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า 
  • การผลิตอุปกรณ์และเครื่องมือวิทยุ โทรทัศน์ และการคมนาคม 
  • การผลิตก๊าซธรรมชาติ 
  • การผลิตยานยนต์ 

ทั้งนี้การปรับค่าจ้างในอัตราข้างต้นจะส่งผลให้ต้นทุนในภาพรวมเพิ่มขึ้นระหว่าง 0.41 – 1.77% การเพิ่มขึ้นของต้นทุนภาคการผลิตและบริการ ส่งผลต่อสินค้าและบริการในตะกร้าเงินเฟ้อ ซึ่งในภาพรวมระดับราคาเพิ่มขึ้นระหว่างร้อยละ 0.27 – 1.04 

สำหรับสินค้าและบริการที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบสูงสุด 5 อันดับแรก คือ กลุ่มอาหารสำเร็จรูป ข้าว การสื่อสาร ผักสด และผลไม้สด เนื่องจากมีสัดส่วนน้ำหนักค่อนข้างสูงในการคำนวณอัตราเงินเฟ้อ และเกี่ยวข้องกับภาคการผลิตที่ใช้แรงงานค่อนข้างเข้มข้น อาทิ กลุ่มอาหารสำเร็จรูป อยู่ในภาคการผลิตภัตตาคารและร้านขายเครื่องดื่ม ข้าว อยู่ในภาคการทำนา การสื่อสารอยู่ในภาคการผลิต บริการไปรษณีย์โทรเลข โทรศัพท์ และการสื่อสาร และผักสด อยู่ในภาคการผลิตการปลูกพืชผัก

 

พาณิชย์ ประเมินขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 10% ทำเงินเฟ้อเพิ่มสูงสุด 1.04%

 

สรุป การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจากเดิม (โดยเฉลี่ย 337 บาทต่อวัน) ตั้งแต่ 5 – 10% ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อ ดังนี้

กรณีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้น 5% หรือ 353.85 บาทต่อวัน หากสถานประกอบการเพิ่มต้นทุนค่าจ้างเฉพาะแรงงานที่จ่ายเป็นค่าจ้างขั้นต่ำ จะส่งผลให้ต้นทุนในภาพรวมเพิ่มขึ้น 0.41% และอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.27% ทั้งนี้หากผู้ประกอบการเพิ่มต้นทุนค่าจ้างแก่แรงงานทั้งระบบในองค์กร จะส่งผลให้ต้นทุนในภาพรวมเพิ่มขึ้น 0.88% และอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.52%

กรณีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้น 10% หรือ 370.70 บาทต่อวัน หากสถานประกอบการเพิ่มต้นทุนค่าจ้างเฉพาะแรงงานที่จ่ายเป็นค่าจ้างขั้นต่ำ จะส่งผลให้ต้นทุนในภาพรวมเพิ่มขึ้น 0.82% และอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.55% ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการเพิ่มต้นทุนค่าจ้างแก่แรงงานทั้งระบบในองค์กร จะส่งผลให้ต้นทุนในภาพรวมเพิ่มขึ้น 1.77% และอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 1.04%