รัฐบาลประกาศ "แก้หนี้นอกระบบ" เป็นวาระชาติ ดึงเจ้าหนี้-ลูกหนี้ทำสัญญา

28 พ.ย. 2566 | 04:53 น.
อัปเดตล่าสุด :28 พ.ย. 2566 | 08:53 น.

นายกฯเศรษฐา ทวีสิน ประกาศยกระดับการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติ ดึงเจ้าหนี้-ลูกหนี้ทำสัญญาถูกกฎหมาย ลั่นจะปลดปล่อยประชาชนจากทาสหนี้ ด้าน "ปลัดคลัง" ดึง ออมสิน-ธกส. ปล่อยสินเชื่อพิเศษ หลังมหาดไทย-ตำรวจไกล่เกลี่ย

วันที่ 28 พ.ย. 66 เวลา 11.20 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง นำแถลง "วาระแห่งชาติ การแก้ปัญหานี้นอกระบบ" ที่ทำเนียบรัฐบาล

โดย นายกฯ ประกาศการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติ และเอาจริงเอาจังเรื่องนี้ เป็นวาระแห่งชาติ เพราะลูกหนี้ใช้หนี้เท่าไรก็ไม่มีวันหมด ปิดโอกาสต่อยอดในชีวิต กระทบกับทุกส่วน เป็นการค้าที่พรากอิสระและความฝันไปจากผู้คน 

ดังนั้นจึงต้องบูรณาการหลายภาคส่วน ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย ตำรวจ และกระทรวงการคลัง 

รัฐบาลประกาศ \"แก้หนี้นอกระบบ\" เป็นวาระชาติ ดึงเจ้าหนี้-ลูกหนี้ทำสัญญา

 

โดยเริ่มจากกระบวนการไกล่เกลี่ยนที่ภาครัฐเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ยลูกหนี้และเจ้าหนี้ เพื่อเข้าสู่กระบวนการทำสัญญาที่เป็นธรรมและเป็นไปตามกฎหมาย ให้ลูกหนี้มีโอกาสหาเงินมาปิดหนี้ให้ได้ ไม่ให้กลับเข้าสู่วงจรอีก 

และจะมีการทำฐานข้อมูลกลาง แทรคกิ้งไอดีติดตามผลได้ ประชาชนสามารถเข้าสู่กระบวนการหลายรูปแบบตามความสะดวก และมีการถ่วงดุลระหว่างหน่วยงาน เมื่อเข้ากระบวนการไกล่เกลี่ยให้ถูกต้องแล้วทั้งตำรวจ และมหาดไทยจะมี KPI และกรอบเวลาร่วมกันในการทำงาน

นายกฯ กล่าวอีกว่า หลังจากนั้นปรับโครงสร้างหนี้โดยกระทรวงการคลัง ปรับระยะเวลาเงื่อนไข ให้ลูกหนี้ใช้หนี้ได้ 

รัฐบาลประกาศ \"แก้หนี้นอกระบบ\" เป็นวาระชาติ ดึงเจ้าหนี้-ลูกหนี้ทำสัญญา

"แต่โครงการนี้ ไม่ใช่ยาปาฏิหารย์ที่จะทำให้หนี้นอกระบบหมดไป  แต่หากเศรษฐกิจดีขึ้นไม่จำเป้นต้องก่อหนี้อีกในอนาคต สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้มากขึ้น จะทำให้โครงการนี้ปลดปล่อยประชาชนจากการเป็นทาสหนี้ และมีแรงบันดาลใจในการทำตามความฝัน" นายเศรษฐา กล่าวและว่า ในวันที่12 ธ.ค. รัฐบาลจะแถลงภาพรวมหนี้ทั้งในและนอกระบบอีกครั้ง 

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

ด้าน นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในส่วนกระทรวงการคลัง นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงการคลังมาดูแลประชาชนที่เป็นลูกหนี้นอกระบบ หลังจากที่มีการปรับโครงสร้าง และไกล่เกลี่ยกันเรียบร้อยแล้ว

โดยจะมาดูแลโดยธนาคารของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน ซึ่งขณะนี้มีโครงการอยู่แล้ว ในเรื่องของการแก้ไขหนี้นอกระบบ โดยจะให้กู้ต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท ระยะเวลา 5 ปี

และอีกส่วนหนึ่งจะเป็นโครงการสินเชื่อ สำหรับอาชีพอิสระ เพื่อรายย่อย เพื่อการส่งเสริมอาชีพ ซึ่งเป็นอีกโครงการหนึ่งที่ให้กู้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย ระยะเวลาสูงสุด 8 ปี ส่วนอัตราดอกเบี้ย เป็นไปตามความสามารถของลูกหนี้แต่ละราย

นอกจากนั้นธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ยังมีโครงการมารองรับ ในเรื่องของการที่นำที่ดินไปขายฝาก หรือติดจำนองกับทางหนี้นอกระบบและได้มีการแก้ไขแล้ว ธ.ก.ส. ก็มีวงเงินสำหรับเกษตรกรต่อรายไม่เกิน 2.5 ล้านบาท ในเรื่องของการแก้ไขที่ทำกิน ซึ่งตรงนี้เป็นส่วนในเรื่องของธนาคารของรัฐที่จะเข้ามาดูแลหลังจากที่มีการไกล่เกลี่ยกันเรียบร้อยแล้ว

สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจจะดำเนินการให้ถูกกฎหมายทางรัฐก็มีช่องทางให้ดำเนินการขออนุญาตเรื่องของพิโกไฟแนนซ์ ซึ่งวันนี้มีผู้มาขออนุญาตไปแล้วพันกว่ารายทั่วประเทศ โดยต่อราย มีทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาทเท่านั้น แต่หลักการไม่ให้ฝากเงิน ให้ใช้เงินของท่านกู้เงินอย่างเดียว

 

ด้าน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงมหาดไทย ยืนยัน จะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ที่รัฐบาลได้กำหนดให้เป็นวาระแห่งชาตินี้ ไปดำเนินการอย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพต่อไป โดยเราจะใช้เครือข่ายและกลไกการทำงาน ที่ครอบคลุมพื้นที่ ทั่วทั้งประเทศ และใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด ตั้งแต่ระดับผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน ที่มีความใกล้ชิดสนิทสนม และได้รับความไว้วางใจจากพี่น้องประชาชน ซึ่งถือว่าเป็นจุดแข็ง ที่เราจะใช้ในการขับเคลื่อนภารกิจนี้นะครับ

นายอนุทิน กล่าวว่า ที่ผ่านมา ในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบนั้น กระทรวงมหาดไทย ได้มีการดำเนินการผ่าน “ศูนย์ดำรงธรรม” จังหวัด และระดับอำเภอ โดยนายอำเภอจะมีบทบาทในฐานะประธานคณะผู้ไกล่เกลี่ย ร่วมกับพี่น้องประชาชน ในนามคณะผู้ไกล่เกลี่ย 

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

ซึ่งนายอำเภอก็ได้ใช้อำนาจหน้าที่ ดำเนินการให้คู่พิพาททำสัญญาประนีประนอมยอมความกันได้ตามเงื่อนไขของหลักกฎหมาย

สำหรับมาตรการล่าสุดของรัฐบาลนั้น จะเป็นการต่อยอดให้เราสามารถช่วยเหลือประชาชนในเชิงรุกได้มากขึ้น ผ่าน “ศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ” 
ทางกระทรวงมหาดไทย ให้พี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ถูกข่มขู่คุกคามหรือไม่ได้รับความเป็นธรรม มาลงทะเบียนเพื่อขอรับความช่วยเหลือได้ ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม เป็นต้นไป ที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด ในศาลากลางจังหวัดทุกแห่ง ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ ในที่ว่าการอำเภอทุกแห่ง

และในส่วนของกรุงเทพมหานคร สามารถลงทะเบียนได้ที่สำนักงานเขตทุกแห่ง เพื่อที่กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะรวบรวมข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน นำไปสู่การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้แก่พี่น้องประชาชนเป็นรายๆไป เพราะแต่ละเคสก็มีความเฉพาะตัวที่ต่างกัน

ในส่วนของมาตรการการบังคับใช้กฎหมายกับเจ้าหนี้นอกระบบ ซึ่งมีพฤติกรรมข่มขู่ ใช้ความรุนแรง หรือเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดนั้น ทางฝ่ายปกครองจะประสานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

รัฐบาลประกาศ \"แก้หนี้นอกระบบ\" เป็นวาระชาติ ดึงเจ้าหนี้-ลูกหนี้ทำสัญญา

ซึ่งในส่วนนี้ก็จะมีความสอดคล้องกับงาน “ปราบปรามผู้มีอิทธิพล”ที่กระทรวงมหาดไทยดำเนินการอยู่ด้วยนะครับ เพราะหนึ่งในกลุ่มผู้มีอิทธิพลก็คือกลุ่มเจ้าหนี้นอกระบบด้วย ถือว่า Watch List ที่เรามีอยู่ ก็จะถูกนำมาใช้ประโยชน์  ในการจับตาพฤติกรรมกัน 

"เชื่อว่าหลังการแถลงในวันนี้ ทุกฝ่ายคงร่วมมือกันอย่างเต็มที่ และหากชุมชนช่วยกันสอดส่อง ตักเตือนให้ลด ละ เลิก พฤติกรรมที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย เราก็น่าจะไม่ต้องมีคดีความเพิ่มขึ้นมาก และจะโฟกัส     กับการแก้ปัญหาหนี้สิน เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้ตั้งหลักได้ต่อไป" นายอนุทิน กล่าว