นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบหลักการมาตรการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้จากการใช้จ่ายในประเทศและจากต่างประเทศ
ทั้งนี้ จะช่วยสร้างรายได้แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ร้านค้า ร้านอาหาร ธุรกิจบริการ สถานบันเทิง โรงแรมที่พัก ผู้ให้บริการขนส่ง สายการบิน เป็นต้น ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมได้ในระยะเวลาอันสั้นและสร้างงานให้กับประชาชนได้เพิ่มขึ้น
“คณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการต่างประเทศ ดำเนินการศึกษารายละเอียด ผลประโยชน์ และผลกระทบ ของมาตรการดังกล่าวข้างต้น ทั้งในมิติของเศรษฐกิจ การคลัง และสังคม รวมทั้งข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบ เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป ซึ่งกระทรวงการคลังจะได้ประชุมหารือหน่วยงานที่ได้รับมอบหมาย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง”
โดยประกอบด้วย 5 มาตรการ ดังต่อไปนี้
1. มาตรการภาษีและการเงินเพื่อสนับสนุนสินค้าไทยให้เป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยว เพื่อเป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศและการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติในประเทศไทย โดยเฉพาะสินค้าที่นักท่องเที่ยวนิยมซื้อในระหว่างการท่องเที่ยว
โดยเห็นควรมอบหมายกระทรวงการคลังพิจารณาความเป็นไปได้ในการใช้มาตรการภาษีและการเงินเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนสินค้าไทยให้เป็นที่รู้จักและเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง ยกระดับคุณภาพมาตรฐาน สร้างเอกลักษณ์ และมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าไทยมากยิ่งขึ้น เพื่อดึงดูดเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติให้หมุนเวียนเข้าสู่ประเทศไทยได้เพิ่มขึ้นและยั่งยืน
2. การปรับปรุงโครงสร้างอัตราภาษีสรรพสามิตและภาษีประเภทอื่น ๆ รวมทั้งปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนภาคการท่องเที่ยว เพื่อให้สินค้าและบริการบางประเภทมีราคาที่สามารถจูงใจในการบริโภคของนักท่องเที่ยว เมื่อเทียบเคียงกับประเทศอื่นที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของการท่องเที่ยว ตลอดจนสามารถทำให้ค่าใช้จ่ายท่องเที่ยวต่อหัวของนักท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้นสอดคล้องกับบริบทของประเทศและนโยบายภาครัฐ
โดยเห็นควรมอบหมายกระทรวงการคลังพิจารณาความเหมาะสมในการปรับปรุงโครงสร้างภาษีสรรพสามิตและภาษีประเภทอื่น ให้สอดคล้องกันสำหรับสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยว รวมทั้งปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การบริหารจัดเก็บภาษีมีความเหมาะสมและสอดคล้องกับรูปแบบสินค้าและบริการในสถานการณ์ปัจจุบัน และมีส่วนช่วยสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวต่อไป
3. การพิจารณาความเหมาะสมในการยกเลิกอนุญาตให้จัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อขายสำหรับร้านค้าปลอดอากรขาเข้ารวมถึงการยกเว้นอากรของที่ซื้อจากร้านค้าปลอดอากรสำหรับผู้โดยสารขาเข้าเพื่อส่งเสริมการบริโภคและการใช้สินค้าภายในประเทศ เพื่อเป็นการส่งเสริมการบริโภคและการใช้สินค้าภายในประเทศมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ เห็นควรมอบหมายกระทรวงการคลังพิจารณาความเหมาะสมในการยกเลิกการอนุญาตให้จัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อขายสำหรับร้านค้าปลอดอากรขาเข้า รวมถึงการยกเลิกหลักเกณฑ์เงื่อนไขการยกเว้นอากรของที่ผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรซื้อจากร้านค้าปลอดอากรสำหรับผู้โดยสารขาเข้า
4. การผ่อนปรนเวลาเปิดปิดของสถานบริการสำหรับจังหวัดที่มีศักยภาพการท่องเที่ยวสูงและเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่มีความพร้อมและเหมาะสม เพื่อเป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายต่อวันของนักท่องเที่ยวให้เพิ่มมากขึ้น และเพิ่มรายได้ให้แก่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้อง เช่น สถานบันเทิง ร้านอาหาร ผู้ให้บริการขนส่ง เป็นต้น โดยเห็นควรมอบหมายกระทรวงมหาดไทยพิจารณาความเป็นไปได้ในการผ่อนปรนเวลาเปิดปิดของสถานบริการต่อไป
5. การยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยวให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเห็นควรมอบหมายกระทรวงการต่างประเทศพิจารณายกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยวให้แก่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางสัญชาติต่าง ๆ เพิ่มเติมจากปัจจุบัน