สศช.เปิดตัวเลขคนจนไทยลดเหลือ 3.8 ล้านคน แม่ฮ่องสอนน่าห่วงจนเรื้อรัง

29 พ.ย. 2566 | 08:38 น.
อัปเดตล่าสุด :29 พ.ย. 2566 | 09:09 น.

สศช. เปิดตัวเลขความยากจนและความเหลื่อมล้ำของไทย ฉบับล่าสุด พบจำนวนคนจนรวม 3.8 ล้านคน ลดลงเล็กน้อย น่าห่วงแม่ฮ่องสอน จนเรื้อรัง หลังติดอยู่ใน 5 อันดับแรกของจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนสูงสุด 19 ปี 

วันนี้ (29 พฤศจิกายน 2566) ธนาคารโลก และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)  เปิดตัวรายงาน “การลดช่องว่าง : ความเหลื่อมล้ำและการจ้างงานในประเทศไทย” และการเปิดตัว “สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย” ฉบับล่าสุด

นางวรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยรายงานสถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย ว่า สถานการณ์ความยากจนในปี 2565 ภาพรวมปรับตัวดีขึ้นหลังผ่านการระบาดของโควิด-19 โดยล่าสุดมีจำนวนคนจนรวม 3.8 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนคนจน 5.43% ลดลงจากปีก่อนที่มีจำนวนคนจน 4.4 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนคนจน 6.32%

ขณะที่เส้นความยากจนของคนไทย ก็ปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อนเช่นกัน โดยปรับเพิ่มขึ้นจาก 2,803 บาทต่อคนต่อเดือน ในปี 2564 เป็น 2,997 บาทต่อคนต่อเดือนในปี 2565

สำหรับจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนสูงสุด 5 จังหวัดในปี 2565 ประกอบไปด้วย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ปัตตานี ตาก นราธิวาส และ กาฬสินธุ์ โดยที่น่าห่วงคือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนสูงที่สุด และติดอยู่ใน 5 อันดับแรกของจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนสูงสุดต่อเนื่องกัน 19 ปี ตั้งแต่ปี 2545 สะท้อนให้เห็นปัญหาความยากจนเรื้อรังที่เกิดขึ้น และต้องเร่งหาทางแก้ไขในเชิงนโยบาย

ส่วนสถานการณ์ด้านความเหลื่อมล้ำ สศช.มีตัวเลขสถานการณ์ด้านความเหลื่อมล้ำด้านรายจ่าย พบว่า ในภาพรวมรวมปรับตัวดีขึ้น โดยตัวชี้วัดสำคัญนั่นคือ ค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคหรือสัมประสิทธิ์จีนี (Gini Coefficient) ด้านรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค ในปี 2565 ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 0.343 จากระดับ 0.350 ในปีก่อน หลังจากตัวชี้วัดหลายด้านค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นทั้งด้านโอกาสทางการศึกษา หลักประกันสุขภาพ และการเข้าถึงสวัสดิการต่าง ๆ ของรัฐ

นางวรวรรณ กล่าวว่า ตัวชี้วัดหนึ่งที่น่าสนใจนั่นคือ การจัดสรรงบประมาณภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม เมื่อดูจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนสูงที่สุด ก็ได้รับการจัดสรรงบประมาณด้านสวัสดิการต่าง ๆ ไม่ต่างจากจังหวัดอื่นที่มีสัดส่วนคนจนน้อย โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2,398 บาทต่อคน

เช่นเดียวกับงบประมาณภายใต้ยุทธศาสตร์จังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณลงไปเท่า ๆ กับจังหวัดเช่นกัน แต่ก็ยังแก้ปัญหาได้ไม่จบ จึงต้องหาวิธีในการแก้ไขอย่างตรงจุดต่อไป