เทียบสิทธิประโยชน์ชัด ๆ สิทธิบัตรทอง 30 บาท vs สิทธิประกันสังคม

30 พ.ย. 2566 | 04:43 น.
อัปเดตล่าสุด :30 พ.ย. 2566 | 04:51 น.

เทียบสิทธิประโยชน์ สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ “สิทธิบัตรทอง 30 บาท” และ สิทธิประกันสังคม ของมนุษย์เงินเดือน และผู้ประกอบอาชีพอิสระ ดูกันชัด ๆ กลุ่มไหนได้ประโยชน์อะไรบ้าง

การบริการสุขภาพผ่านสิทธิต่าง ๆ ของคนไทยในปัจจุบัน มีด้วยกัน 2 กลุ่มใหญ่ กลุ่มแรก นั่นคือ สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ “สิทธิบัตรทอง 30 บาท” เป็นสิทธิรักษาพยาบาล ครอบคลุมทุกคนที่มีสัญชาติไทย และมีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก และไม่มีสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลอื่นใดที่รัฐจัดให้ ยกเว้นว่าจะมีสิทธิรักษากับประกันสังคม และสิทธิบัตรข้าราชการอื่น ๆ

ส่วนอีกกลุ่มนั่นคือ สิทธิประกันสังคม เป็นหลักประกันด้านการดูแลสุขภาพ และคุณภาพชีวิตของประชาชนผู้มีรายได้ ซึ่งมีการจ่ายเงินสมทบเข้าสู่กองทุนประกันสังคม ซึ่งจะครอบคลุมทั้งมนุษย์เงินเดือน และผู้ประกอบอาชีพอิสระ มีทั้งมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 ซึ่งมีสิทธิประโยชน์ในการได้รับความคุ้มครองที่ต่างกัน 

ความแตกต่างบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขระหว่างสิทธิบัตรทอง (บัตร 30 บาท) และ สิทธิประกันสังคม นั้น จากข้อมูลของ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระบุข้อมูลและเปรียบเทียบสิทะประโยชน์ที่น่าสนใจไว้ดังนี้

 

เทียบสิทธิประโยชน์ชัด ๆ สิทธิบัตรทอง 30 บาท vs สิทธิประกันสังคม

 

บัตรทองหรือบัตร 30 บาท (สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ)

  • ไม่มีค่าใช้จ่าย ใช้ได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง และไม่มีวงเงิน เพียงลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการหรือสถานพยาบาลประจำตัวแล้วใช้สิทธิได้ทันทีโดยใช้บัตรประชาชนใบเดียว
  • ใช้กับสถานพยาบาลประจำที่ลงทะเบียนไว้ หรือเจ็บป่วยต่างพื้นที่เข้าสถานพยาบาลปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ 
  • เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติถึงแก่ชีวิต (สีแดง) เข้าสถานพยาบาลรัฐและเอกชนที่อยู่ใกล้ (สิทธิ UCEP เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิทุกที่)
  • มีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย/เบื้องต้น ไม่ว่าสิทธิบัตรทองจะอยู่ที่สถานพยาบาลใด ก็เข้ารับบริการตามรายการนี้ได้
  1. เจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มโรค/อาการ ปรึกษาเภสัชกรและรับยาที่ร้านยากว่า 1,000 แห่งที่เข้าร่วมได้ทั่วประเทศ
  2. เจ็บป่วยเล็กน้อย 32 กลุ่มโรค/อาการ รับบริการที่คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่นกว่า 600 แห่งที่เข้าร่วมได้ทั่วประเทศ
  3. เจ็บป่วยเบื้องต้น 42 กลุ่มโรค/อาการ พบหมอออนไลน์ รอรับยาจัดส่งถึงบ้านได้ ในพื้นที่ กรุงเทพฯ-ปริมณฑล 5 จังหวัด ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรปราการ สมุทรสาคร 
  • การย้ายหรือเปลี่ยนสถานพยาบาลประจำตัวทำได้ 4 ครั้งต่อปีงบประมาณ ใช้สิทธิได้ทันทีเมื่อเปลี่ยนแล้ว
  • ใช้ได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง และไม่มีวงเงิน ครอบคลุมการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข สร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ตรวจวินิจฉัยโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็น 
  • ครอบคลุมค่าอาหารและค่าห้องสามัญเมื่อต้องแอดมิทที่โรงพยาบาล
  • ได้เพียงสิทธิรักษาฟรี (บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข) ไม่มีเงินชดเชยว่างงาน เกษียณ เสียชีวิต เหมือนประกันสังคม 

 

เทียบสิทธิประโยชน์ชัด ๆ สิทธิบัตรทอง 30 บาท vs สิทธิประกันสังคม

 

ประกันสังคม (ผู้ประกันตน) 

  • ประกันสังคม ต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนทุกเดือน ตามเงื่อนไขจึงจะสามารถใช้สิทธิได้
  • ใช้กับโรงพยาบาลที่เลือกสิทธิไว้ กรณีฉุกเฉินเข้าที่ไหนก่อนก็ได้โดยไม่ต้องสำรองจ่าย 
  • เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกกฤติเข้าสถานพยาบาลรัฐและเอกชนที่อยู่ใกล้ (สิทธิ UCEP เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติมีสิทธิทุกที่)
  • ใช้ได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง ไม่มีวงเงิน และไม่เสียค่าใช้จ่ายครอบคลุมการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข สร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ตรวจวินิจฉัยโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็น 
  • การย้ายสถานพยาบาลประจำตัวย้ายได้ปีละ 1 ครั้ง
  • ถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน ไม่เกิน 900 บาท/ปี 
  • ค่าห้องและค่าอาหาร ไม่เกิน 700 บาท/วัน
  • ได้รับเงินชดเชย กรณีว่างงาน เกษียณ เสียชีวิต 

หมายเหตุ 

  1. บัตรทองหรือบัตร 30 บาทมีได้ทุกคน หากไม่มีสวัสดิการรักษาพยาบาลอื่นของรัฐ (ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการและครอบครัว เป็นต้น) 
  2. พนักงานบริษัทได้สิทธิประกันสังคมอัตโนมัติ
  3. กรณีลาออกจากงาน และไม่อยากส่งประกันสังคมต่อ (มาตรา 39) สามารถใช้สิทธิบัตรทองหรือบัตร 30 บาทได้ แต่ต้องลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการประจำก่อน 
  4. ผู้ประกันตนมาตรา 40 ใช้สิทธิ “บัตรทองหรือบัตร 30 บาท” รักษาพยาบาล หรือหากได้รับสิทธิเบิกจ่ายตรงจากกรมบัญชีกลาง ก็ยังคงได้รับสิทธิได้ตามปกติ (มาตรา 40 ไม่ได้ให้ความคุ้มครองในเรื่องค่ารักษาพยาบาล แต่ให้เป็นเงินทดแทนการขาดรายได้ กรณีประสบอันตราย/เจ็บป่วย และกรณีทุพพลภาพ รวมถึงได้รับเงินค่าทำศพ กรณีตาย ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด)