"ส.อ.ท."แนะรัฐอัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่ม-ดูแลราคาพลังงาน

04 ธ.ค. 2566 | 03:11 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ธ.ค. 2566 | 03:11 น.

"ส.อ.ท."แนะรัฐอัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่ม-ดูแลราคาพลังงาน เผยทิศทางเศรษฐกิจไทย 67 ยังต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงทั้งในและนอกที่ควบคุมไม่ได้ โดยเฉพาะาวะหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูงทำให้กำลังซื้ออ่อนแอ

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2567 ว่า ยังคงต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ โดยเฉพาะปัจจัยภายในที่ไทยยังคงมีปัญหาภาวะหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูงทำให้กำลังซื้อประชาชนอ่อนแอ

ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐจากงบประมาณปี 2567 จะล่าช้าออกไปเป็น เม.ย.-ต้น พ.ค. จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยยังคงมีความเปราะบาง ดังนั้นจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องหามาตรการกระตุ้นแรงซื้อประชาชนเพื่อประคองเศรษฐกิจระหว่างนี้เพิ่มเติม

สำหรับการที่รัฐจะมีมาตรการ e-Refund ที่จะเริ่ม 1 ม.ค.-15 ก.พ. นั้นเป็นเรื่องที่ดีแต่แค่ช่วงระยะเวลาสั้น โดยยังเห็นว่าจำเป็นต้องมีมาตรการอื่นเพิ่มเติมต่อเนื่องอีกเพราะต้องยอมรับว่ากำลังซื้อของไทยอ่อนแอมาก เนื่องจากมีหนี้ครัวเรือนที่เป็นทั้งหนี้ในระบบและนอกระบบ ที่รัฐยังต้องใช้เวลาในการปรับโครงสร้างอยู่พอสมควร
 

"หนี้ครัวเรือนสูงนั้นยังมีปัจจัยของค่าครองชีพต่างๆ ที่คนไทยยังมีแนวโน้มต้องรับเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะจากพลังงานทั้งค่าไฟฟ้า น้ำมันทั้งกลุ่มดีเซลและเบนซิน รวมถึงก๊าซหุงต้ม(LPG) ที่รัฐบาลได้ออกมาตรการดูแลที่จะทยอยสิ้นสุดมาตรการในสิ้นปี 2565 เช่น การตรึงราคาดีเซล LPG ท่ามกลางภาระหนี้ทั้งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูง เหล่านี้ทำให้ภาพรวมพลังงานของไทยปี 2567 ยังอยู่ช่วงขาขึ้น"

อย่างไรก็ตาม หากตลาดโลกขยับแรงจะทำให้ยิ่งกดดันเพิ่มขึ้นจึงนับเป็นความเปราะบางที่รัฐบาลจำเป็นจะต้องมองในเรื่องแผนรับมือผ่านการปรับโครงสร้างต่างๆที่เน้นระยะสั้น กลาง และยาวเอาไว้ล่วงหน้าอย่างเร่งด่วน ซึ่งส.อ.ท.เห็นว่ารัฐควรจะต้องเร่งจัดตั้งคณะกรรมการร่วมรัฐและเอกชน (กรอ.)พลังงานเพื่อร่วมกันเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาเพราะพลังงานโดยเฉพาะค่าไฟฟ้าที่สูงจะกระทบต่อขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ

นอกจากนี้เศรษฐกิจไทยปี 67 จะฟื้นตัวมากน้อยเพียงใด อีกส่วนน่าจะมาจากภาคท่องเที่ยวและการดึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(FDI) ที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมาตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เดินทางไปโรดโชว์ประเทศต่างๆ ซึ่งค่าไฟหากสูงเกินไปย่อมกลายเป็นปัจจัยลบต่อการดึงดูดการลงทุนเช่นกัน ขณะที่ภาคการส่งออกนั้นจะสะท้อนตามเศรษฐกิจโลกที่ทุกฝ่ายคาดหวังว่าจะททยอยฟื้นตัวจากปีนี้

นายเกรียงไกร กล่าวอีกว่า ปัญหาสินค้าราคาถูกที่ไม่ได้คุณภาพมาตรฐานจากต่างประเทศทะลักเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยมีการนำเข้ามาทั้งที่ถูกกฎหมาย และไม่ถูกกฎหมายในลักษณะสำแดงเท็จ ไม่มีมาตรฐานเพราะไม่ต้องผ่านมาตรฐาน มอก. หรือมาตรฐานใดของไทย สุ่มเสี่ยงเรื่องความปลอดภัย ยังไม่ได้รับการแก้ไขจะซ้ำเติมให้เกิดการปิดกิจการมากขึ้นในปี 67 ยิ่งจะส่งผลต่อความเปราะบางเศรษฐกิจไทย ซึ่งก่อนหน้านี้ส.อ.ท.ได้รับการร้องเรียนผลกระทบจากสมาชิกมากกว่า 20 อุตสาหกรรมซึ่งมีทั้งขนาดใหญ่และวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม(เอสเอ็มอี) เริ่มมีปัญหาหนักขึ้น

ด้านปัจจัยภายนอกที่ต้องติดตามปี 67 ยังคงเป็นความเสี่ยงจากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ขณะนี้โลกเผชิญอยู่ 2 สมรภูมิคือ การสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส หาก 2 สมารภูมิดังกล่าวไม่ได้บานปลายขยายวง และไม่มีสมรภูมิรบเพิ่มอีกก็จะทำให้เศรษฐกิจโลกไม่ได้รับผลกระทบมากนัก 

รวมถึงระดับราคาพลังงานก็จะไม่เพิ่มขึ้นแต่หากมีการขยายพื้นที่ ไทยก็ต้องได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องเตรียมแผนรองรับทั้งระดับองค์กรและนโบบายจากรัฐบาล

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจโลกปี 67 ภาพรวมน่าจะได้รับปัจจับบวกจากอัตราดอกเบี้ยที่จะคลี่คลายลง แต่ก็ยังคงต้องดูเศรษฐกิจรายใหญ่ โดยเฉพาะจากจีนว่าจะมีมาตรการใดออกมากระตุ้นหลังจากปีนี้เศรษฐกิจจีนไม่ค่อยดีเท่าที่ควร 

นอกจากนี้ประเทศเยอรมนีล่าสุดก็ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจเช่นกัน ปัจจัยดังกล่าวเหล่านี้ล้วนเป็นความเปราะบางที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจโลกทีต้องติดตามใกล้ชิดทั้งสิ้น