แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ หรือ ครม. สัญจร จังหวัดหนองบัวลำภู วันนี้ (4 ธันวาคม 2566) มีมติเห็นชอบโครงการสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ปีการผลิต 2565/2566 ซึ่งเป็นการจ่ายเงินชดเชยตัดอ้อยสด ตันละ 120 บาท ภายใต้กรอบวงเงิน 8,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ที่ผ่านมา นางสาวพิมพ์ภัทรา วิขัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุถึง การจ่ายเงินชดเชยตัดอ้อยสด ตันละ 120 บาท ว่า หาก ครม.เห็นชอบแล้ว จะช่วยให้ชาวไร่อ้อยจะมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 8,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อยในขณะที่ต้นทุนการผลิตอ้อยปรับตัวสูงขึ้น
เบื้องต้นเมื่อ ครม.อนุมัติการจ่ายเงินชดเชยตัดอ้อยสด ตันละ 120 บาท คาดว่าจะมีชาวไร่อ้อยเข้าร่วมโครงการประมาณ 140,000 ราย
ทั้งนี้ในการเดินทางลงพื้นที่ ครม.สัญจร ครั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีการลงพื้นที่พบปะพูดคุยกับสมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดอุดรธานี โดยระบุว่าจะเสนอการจ่ายเงินชดเชยตัดอ้อยสด ตันละ 120 บาท เข้าสู่การประชุมครม.
พร้อมกันนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ยังติดตามสถานการณ์ราคาอ้อยและน้ำตาลทรายในปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานกิโลกรัมละ 21-22 บาท จากเดิมที่กิโลกรัมละ 19-20 บาท ซึ่งรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว จะใช้เป็นองค์ประกอบในการคำนวณราคาอ้อยขั้นต้น เพื่อให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยและโรงงานมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นด้วย
ต่อมา นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมครม.ว่า ครม.มีมติอนุมัติโครงการสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM2.5 กรอบวงเงินงบประมาณรวมทั้งสิ้น 7,990.60 ล้านบาท ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม เสนอมีวาสาระสำคัญ ดังนี้
1. อัตราการจ่ายเงินสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยตามโครงการฯ ในอัตราไม่เกิน 120 บาทต่อตัน เพื่อให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยสามารถดำเนินการเก็บเกี่ยวอ้อยสดคุณภาพดี1 และนำไปแก้ไขปัญหาในพื้นที่ที่มีข้อจำกัดที่ทำให้เกิดการลักลอบเผาอ้อย ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสนับสนุนดังกล่าวจะเป็นแนวทางในการสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยให้สามารถดำเนินการเก็บเกี่ยวอ้อยสดและนำไปแก้ไขปัญหาในพื้นที่ที่มีข้อจำกัดในการเก็บเกี่ยวอ้อยสด
2. ค่าใช้จ่ายโครงการฯ ในอัตราไม่เกิน 120 บาทต่อตัน เป็นจำนวนเงิน 7,775.01 ล้านบาท โดยใช้แหล่งเงินทุนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
3. ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของ ธ.ก.ส. รวมจำนวนเงิน 215.59 ล้านบาท แบ่งเป็น
นางรัดเกล้า กล่าวว่า การขอรับเงินอุดหนุนโครงการฯ ไม่ขัดต่อพันธกรณีภายใต้ WTO เนื่องจากมาตรการดังกล่าวเป็นการให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อส่งเสริมการตัดอ้อยสด ลดปัญหามลพิษทางอากาศและฝุ่น PM2.5 ซึ่งเป็นไปตามพันธกรณีภายใต้ WTO ในข้อกำหนดด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (Green box) ด้านการเกษตร โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตและราคาสินค้า