ดัน ไฮสปีดไทย-จีน เฟส2 3.4 แสนล้าน เชื่อมระบบราง 3 ประเทศ

08 ธ.ค. 2566 | 07:36 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ธ.ค. 2566 | 07:43 น.

“รฟท.” เร่งแก้อีไอเอ เดินหน้าสร้างไฮสปีดไทย-จีน เฟส2 วงเงิน 3.4 แสนล้านบาท ชงคมนาคมไฟเขียวภายในธ.ค.นี้ เตรียมเปิดประมูลไตรมาส 2 ปี 67 หวังเชื่อมต่อการเดินทางระบบราง 3 ประเทศ

การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เร่งรัดโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนระบบรถไฟความเร็วสูง(ไฮสปีดไทย-จีน)  เฟส 1  จำนวน 14 สัญญา ซึ่งมีความคืบหน้าก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง โดยกระทรวงคมนาคมยังผลักดันโครงการฯในระยะที่ 2  เพื่อให้ระบบรถไฟของไทย สามารถเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างประเทศจีนและสปป.ลาวได้สะดวกมากขึ้น 

 

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคมผลักดันโครงการ ไฮสปีด ไทย-จีน ระยะที่2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 356 กิโลเมตร(กม.) วงเงิน 341,351 ล้านบาท  ล่าสุด รฟท. อยู่ระหว่างแก้ไขรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ตามความเห็นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนนี้ 

 

หลังจากนั้นจะเสนอต่อกระทรวงคมนาคมพิจารณาภายในเดือนธันวาคม 2566  และเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป คาดว่าจะเปิดประมูลภายในไตรมาส 2 ของปี 2567 และเริ่มก่อสร้างภายในเดือนธันวาคม 2567 ระยะเวลาก่อสร้าง 7 ปี หลังจากนั้นจะดำเนินการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณได้ภายในเดือนกรกฎาคม 2568 พร้อมเปิดให้บริการปี 2573 
 

ขณะที่ความคืบหน้าด้านการเวนคืนที่ดินไฮสปีด ไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะ(เฟส) ที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย วงเงิน 12,418 บาท คาดว่าจะเริ่มดำเนินการเวนคืนที่ดินได้ ภายหลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการแล้ว เบื้องต้นพบว่ามีพื้นที่ที่ถูกเวนคืน ช่วงนครราชสีมา - บ้านไผ่ จำนวน 195 แปลงและช่วงบ้านไผ่ - หนองคาย จำนวน 1,764 แปลง  

 

รายงานข่าวจากรฟท. ระบุว่า ตามแผนโครงการฯจะแบ่งการประมูลเพื่อดำเนินการก่อสร้างเป็นไม่เกิน 10 สัญญา เนื่องจากที่ผ่านมาการประมูลแต่ละโครงการ ฯ มีการแบ่งออกหลายสัญญา ทำให้ผู้รับจ้างรายเล็กไม่สามารถเข้าร่วมประมูลงานได้ เพราะเป็นสัญญางานก่อสร้างที่มีขนาดใหญ่ ทำให้ในโครงการฯ ระยะที่ 2 ทางรฟท.มีความเห็นว่าควรขยายสัญญาให้ใหญ่ขึ้น เพื่อให้เกิดการแข่งขันในการประมูลมากขึ้นสำหรับงานก่อสร้างให้แก่ผู้รับจ้างรายเล็ก ซึ่งจะทำให้ผู้รับจ้างมีรายเล็กมีผลงานเพิ่มขึ้น 

 

“นอกจากนี้มีบางสัญญาที่อยู่ภายในเมืองสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ยาก เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ต้องมีการรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภค,ท่อระบายน้ำและระบบไฟฟ้า รวมทั้งผู้บุกรุกที่อาศัยภายในชุมชนใหญ่ ส่งผลให้การรื้อย้ายต้องใช้ระยะเวลา"
 

ทั้งนี้การออกแบบรางของโครงการฯมีขนาด 1.435 เมตร โดยรถไฟสามารถใช้ความเร็วได้สูงสุด 250 กิโลเมตร (กม.) ต่อชั่วโมง(ชม.) ใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังหนองคาย ระยะทางรวม 609 กิโลเมตร (กม.) ประมาณ 3 ชั่วโมง 15 นาที

ดัน ไฮสปีดไทย-จีน เฟส2   3.4 แสนล้าน เชื่อมระบบราง 3 ประเทศ

สำหรับแนวเส้นทางไฮสปีด ไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะ(เฟส) ที่ 2 ตลอดระยะทาง 356 กิโลเมตร (กม.) นั้น แบ่งการก่อสร้างเป็น ทางรถไฟระดับพื้นดิน 185 กิโลเมตร (กม.) และทางรถไฟยกระดับ 171 กิโลเมตร (กม.) มีทั้งสิ้น 5 สถานี ได้แก่ สถานีบัวใหญ่, สถานีบ้านไผ่, สถานีขอนแก่น, สถานีอุดรธานี และสถานีหนองคาย โดยจะมีสถานีขนถ่ายสินค้า 1 แห่ง บริเวณสถานีรถไฟนาทา จังหวัดหนองคาย รวมทั้งจะมีการก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงที่เชียงรากน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และสถานีนาทา จังหวัดหนองคาย 

 

อย่างไรก็ตามไฮสปีด ไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะ(เฟส) ที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย มีเส้นทางครอบคลุม 4 จังหวัด ประกอบด้วย จ.นครราชสีมา, จ.ขอนแก่น, จ.อุดรธานี และจ.หนองคาย เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะช่วยอำนวยความสะดวกด้านการเดินทางที่มีความรวดเร็ว และความปลอดภัยให้ประชาชน รวมทั้งยังเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์เชื่อมต่อการค้าการลงทุนของไทยกับ สปป.ลาว และประเทศจีนด้วย