ออมสินชูแนวคิด “CSV” นำร่อง 5 ชุมชนน่าน สร้างรายได้ครัวเรือนยั่งยืน

09 ธ.ค. 2566 | 09:32 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ธ.ค. 2566 | 08:00 น.

ธนาคารออมสินชูแนวคิด “CSV” ช่วยสังคมแบบองค์รวม นำร่องพัฒนา 5 ชุมชนจังหวัดน่าน สร้างรายได้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนสร้างต้นแบบการพัฒนาที่ยึดโยงกับบริบทแวดล้อมของพื้นที่

การลดปัญหาความเหลื่อมลํ้าทางสังคมอย่างยั่งยืน เป็นอีกหนึ่งนโยบายสำคัญของ “ธนาคารออมสิน” โดยล่าสุด ได้นำร่องจังหวัดน่าน ดำเนินโครงการพัฒนาชุมชนแบบองค์รวม ตั้งแต่ปี 2565 ที่ผ่านมา กระทั่งปัจจุบันได้พัฒนาชุมชนในพื้นที่ห่างไกลรวมกว่า 5 หมู่บ้าน พื้นที่ 10,015 ไร่ ครอบคลุมกว่า 481 ครัวเรือน

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ออมสินมีแนวคิดการช่วยเหลือสังคมจาก CSR (Corporate Social Responsibility) เป็น CSV (Creating Share Value) ซึ่งเป็นการเอาปัญหาสังคมใส่ไปในธุรกิจ หรือปรับทิศทางการทำธุรกิจเพื่อแก้ปัญหาทางสังคม ซึ่งโครงการด้านสังคมคือต้นทุนในการดำเนินการ แต่การช่วยสังคมคือส่วนหนึ่งของธุรกิจ

โดยออมสินได้เข้ามาดำเนินโครงการพัฒนาชุมชนแบบองค์รวม (Holistic Area-Based Development) ภายใต้ชื่อ “ออมสินฮ่วมใจ๋ฮักขุนน่าน” ระยะที่ 1 (ปี 2565-2566) ผ่าน 5 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านเปียงซ้อ บ้านห้วยฟอง บ้านสะจุก บ้านสะเกี้ยง และบ้านห้วยเต๋ย มีผู้ได้รับประโยชน์กว่า 10,000 ราย

ทั้งนี้ ออมสินได้ดำเนินภารกิจทั้ง 10 มิติ มีความคืบหน้าด้านการวางรากฐานและงานโครงสร้างต่าง ๆ ตามแผนงานโครงการกว่า 90% ได้แก่ มิติด้านส่งเสริมอาชีพสร้างงานสร้างรายได้ มิติด้านแหล่งทุนและส่งเสริมการออม มิติสุขภาพและคุณภาพชีวิต ด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน ด้านการศึกษาและศาสนา รวมถึงมิติด้านยกระดับการท่องเที่ยว

“ธนาคารเตรียมเดินหน้างานระยะที่ 2 ขยายผลสร้างการมีส่วนร่วม และถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ชุมชนมีความรู้ สามารถดูแลตัวเองได้อย่างเข้มแข็งต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ ในเฟสต่อไปธนาคารจะขยายการดูแลไปยังจังหวัดต่าง ๆ เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมลํ้าของสังคมอย่างยั่งยืน”

นายวิทัย กล่าวอีกว่า ความก้าวหน้าที่สำคัญของโครงการ ได้แก่ การส่งเสริมสร้างรายได้เพิ่มแก่ครัวเรือน โดยการก่อสร้างโรงแปรรูปผลผลิตกาแฟโดยความร่วมมือของธนาคารออมสินกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ 100% ซึ่งต่อไปเกษตรกรจะสามารถใช้บริการโรงแปรรูปฯ นี้เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มราคาขายผลิตผลกาแฟที่เก็บเกี่ยวได้มากขึ้นกว่า 10 เท่า

“เดิมชาวบ้านในพื้นที่ปลูกข้าวโพดสร้างรายได้ ซึ่งมีผลต่อการทำลายหน้าดิน และไม่ยั่งยืน ออมสินจึงได้ร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ สนับสนุนการปลูกกาแฟ และสร้างโรงงานแปรรูปให้สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับชาวบ้านได้เพิ่มขึ้น จากเดิมการขายเมล็ดกาแฟกิโลกรัมละ 20 บาท หลังจากแปรรูปเมล็ดมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 200 บาท ซึ่งช่วยสร้างรายได้จริงให้ชาวบ้านสูงขึ้นถึง 2.5 เท่า”

นอกจากนี้ ออมสินยังมีการส่งเสริมให้สมาชิกชุมชนเริ่มกิจการโฮมสเตย์เพื่อเป็นรายได้เสริมในช่วงฤดูการท่องเที่ยว ซึ่งปัจจุบันเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ โดยมีผู้เริ่มทำโฮมสเตย์เพิ่มขึ้นเป็น 37 ราย จากเดิมที่มีโฮมสเตย์เพียง 11 ราย สามารถสร้างรายได้เพิ่มนอกฤดูเกษตรกรรมให้ครัวเรือนได้มากขึ้นกว่าเท่าตัว จากเดิมมีรายได้เฉลี่ยเพียงปีละ 80,000 บาท

ส่วนในด้านส่งเสริมการออม ธนาคารได้สนับสนุนการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ของชุมชนบ้านห้วยฟองให้เริ่มมีเงินออมเป็นครั้งแรก รวมถึงการจัดตั้งธนาคารโรงเรียนรูปแบบพิเศษเป็นแหล่งเงินออมของนักเรียนและครูของโรงเรียนบ้านห้วยฟอง และโรงเรียนบ้านเปียงซ้อ ด้วยระยะเวลาเพียง 8 เดือนชุมชนเล็ก ๆ ในพื้นที่ห่างไกลแห่งนี้ สามารถมีเงินออมรวมกันกว่า 8 แสนบาท นับเป็นจุดเริ่มต้นการสร้างรากฐานที่เข้มแข็งแก่ชุมชน

 ออมสินยังมีความคืบหน้าภารกิจมิติอื่น ๆ อาทิ การสนับสนุนการปรับปรุงระบบนํ้าอุปโภคบริโภคแก้ไขปัญหาขาดแคลนนํ้าในช่วงหน้าแล้ง โดยติดตั้งถังกักเก็บนํ้าขนาดใหญ่พร้อมระบบกรองนํ้าสะอาดเพื่อการบริโภค การติดตั้งระบบไฟฟ้าโซลาร์ส่องสว่างในชุมชนและโรงเรียน การสนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์ จักรยานยนต์ พร้อมอาคารปฏิบัติงานแก่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) รวมถึงระบบอากาศมาตรฐานการแพทย์สำหรับคลินิคทันตกรรม และอุปกรณ์การแพทย์ห้องฉุกเฉิน เป็นต้น

 “โครงการออมสินฮ่วมใจ๋ฮักขุนน่าน เป็นการพัฒนาชุมชนแบบองค์รวมที่ธนาคารออมสินตั้งเป้าให้เป็นต้นแบบของการพัฒนาที่ยึดโยงกับบริบทแวดล้อมของพื้นที่ มุ่งหวังสร้างคุณค่าร่วมตามกรอบแนวคิด CSV ให้ธุรกิจเติบโต ควบคู่กับการสร้างประโยชน์เกิดแก่ชุมชนและสังคมอย่างเป็นรูปธรรม”นายวิทัย กล่าวทิ้งท้าย