ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า"เมื่อคะแนน PISA ตกต่ำ คะแนน O-Net ต่ำกว่ามาตรฐาน ประเทศไทยจะเหลืออะไร " รายละเอียดดังนี้
PISA คือการทดสอบสมรรถนะการแก้ปัญหาของนักเรียนที่กลุ่มประเทศ OECD ใช้เป็นเกณฑ์เบื้องต้นในการดูสมรรถนะของแรงงานประเทศต่างๆเพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกลงทุนในประเทศนั้นหรือไม่
เมื่อคะแนน PISA ของนักเรียนไทยต่ำ สมรรถนะแรงงานไทยจึงไม่ดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติอยากมาลงทุน กล่าวให้ชัดเจน คือเมื่อคะแนน PISA ของนักเรียนไทยตกต่ำ แรงดึงดูดการลงทุนของต่างชาติในไทยก็ตกต่ำตามไปด้วย
O-Net คือการทดสอบความรู้ความสามารถเบื้องต้นของนักเรียนไทย ชั้น ป.6, ม.3, ม.6 เพื่อดูว่าความรู้ความสามารถของนักเรียนแต่ละช่วงชั้นปีอยู่ในระดับใด เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดหรือไม่ เพียงใด
ผลคะแนน O-Net ชั้นม.6 จากปี 2561-2564 พบว่านักเรียนได้คะแนนเฉลี่ยต่ำกว่าร้อยละ 50 ในทุกวิชาที่สอบ พูดง่ายๆคือนักเรียนชั้นม.6 สอบตกทั้งประเทศ
วิชาสำคัญ 3 วิชา คะแนนลดลงในช่วงเวลา 3 ปี (2561-2564) อย่างมีนัยสำคัญ
ผมไม่อยากได้ยินคำอธิบายจากกระทรวงศึกษาธิการว่าทำไมคะแนนจึงเป็นเช่นนี้ ผมอยากเห็นกระทรวงศึกษาธิการยอมรับความจริงว่าการเรียนการสอนของโรงเรียนโดยรวมมีปัญหาจริง กล่าวคือครูไม่สามารถสอนให้นักเรียนเรียนรู้ได้
เมื่อสมรรถนะและความรู้ของนักเรียนไทยเป็นเช่นนี้ ประเทศไทยจึงติดกับดักการพัฒนาที่ไม่เจริญก้าวหน้ามาเป็นเวลาอย่างน้อย 10 ปีมาแล้ว และกับดักนี้จะอยู่ต่อไปอีกอย่างน้อย 10 ปี
คะแนน PISA และ O-Net ที่ตกต่ำเช่นนี้ วิกฤตนี้เกินกว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการจะแก้ไขได้ตามลำพังแล้ว เหลือเพียงนายกรัฐมนตรีเท่านั้นว่าท่านจะจัดการกับวิกฤตคุณภาพการศึกษานี้อย่างไร
เศรษฐกิจไทยแข่งขันไม่ได้เพราะคุณภาพคนของเราแข่งขันไม่ได้ แต่กรุณาอย่าเข้าใจผิดว่าประเทศไทยไม่มีคนที่มีคุณภาพนะครับ
#กนก วงษ์ตระหง่าน