แรงงานทำจดหมายเปิดผนึก ขอรัฐบาลคิด “ค่าจ้างขั้นต่ำ” เท่ากันทั้งประเทศ

10 ธ.ค. 2566 | 08:20 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ธ.ค. 2566 | 09:42 น.

สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) และ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ทำจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี และ รัฐบาล ขอให้คิด “ค่าจ้างขั้นต่ำ” เท่ากันทั้งประเทศ

วันนี้ (10 ธันวาคม 2566) สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) และ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี และ รัฐบาล เรื่อง ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ต้องเป็นธรรมต้องเลี้ยงคนในครอบครัวได้ตามหลักการสากลต้องเท่ากันทั้งประเทศ พร้อมกับเสนอให้มีมาตรการควบคุมราคาสินค้า 

สำหรับสาระสำคัญของจดหมายเปิดผนึก สรุปได้ว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 12 ธันวาคม 2566 ที่จะพิจารณาการปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามกระทรวงแรงงาน จะนำเสนอนั้น สสรท. และสรส. ขอให้รัฐบาลพิจารณาอย่างรอบคอบ คำนึงถึงคุณภาพชีวิตของคนส่วนใหญ่ของประเทศและนโยบายที่หาเสียงไว้กับประชาชน จะต้องปรับค่าจ้างให้เป็นธรรมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน

 

แรงงานทำจดหมายเปิดผนึก ขอรัฐบาลคิด “ค่าจ้างขั้นต่ำ” เท่ากันทั้งประเทศ

 

โดยค่าจ้างขั้นต่ำต้องเพียงพอต่อการเลี้ยงชีพของคนทำงานและครอบครัวได้ 3 คน ตามหลักการของปฏิญญาสากลขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) โดยการปรับค่าจ้างขั้นต่ำต้องเท่ากันทั้งประเทศ ครอบคลุมแรงงานในทุกภาคส่วน รวมทั้งพนักงานและลูกจ้างภาครัฐ ซึ่งยังรับค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ

ทั้งนี้ สสรท. และ สรส. ระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับการกำหนดค่าจ้างให้แตกต่างกันเป็นระดับท้องถิ่น ที่ได้ขยายไปเรื่อย ๆ จาก 4 ราคาในปี 2561 เป็น 9 ราคา ในปี 2565 และกำลังจะเป็น 17 ราคา ในปี 2567 และรัฐบาลควรกำหนดให้แต่ละสถานประกอบการจัดทำ โดยให้ค่าจ้างขั้นต่ำเป็นค่าจ้างแรกเข้า และปรับค่าจ้างทุกปีตามดัชนีค่าครองชีพและอัตราเงินเฟ้อ 

ทั้งนี้เห็นว่า โครงสร้างค่าจ้างจะทำให้คนงานสามารถวางแผนอนาคตได้ ผู้ประกอบการก็สามารถวางแผนธุรกิจได้ พรรคการเมืองจะได้ไม่ต้องนำเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำไปหาเสียงและจะได้เลิกถกเถียงเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำจะปรับเท่าใด พร้อม ๆ กับการปรับค่าจ้างก็ขอให้รัฐบาลควบคุมราคาสินค้าไม่ให้แพงเกินจริง