วันนี้ (19 ธันวาคม 2566) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติแนวทางการแก้ไขหนี้ทั้งระบบ โดยอนุมัติวงเงินงบประมาณ 4,900 ล้านบาท ซึ่งจะใช้วงเงินตามมาตรา 28 ของพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 เพื่อดำเนินการ 3 มาตรการ ดังนี้
1. มาตรการช่วยเหลือพักหนี้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม ที่ได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
มีรายละเอียดคือ เป็นการช่วยลดภาระการผ่อนชำระหนี้ให้สอดคล้องกับศักยภาพและความสามารถในการชำระหนี้ สำหรับลูกหนี้ SMEs ของลูกหนี้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 10 ล้านบาท และเป็นหนี้เสีย หรือ NPLs ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566
โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้แทนลูกหนี้ในอัตรา 1% ต่อปี ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี (ลูกหนี้ชำระดอกเบี้ยส่วนที่เหลือ) ระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี 5 เดือน (8 เดือน) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2568 ประมาณการวงเงินชดเชยดอกเบี้ยไม่เกิน 400 ล้านบาท
2. มาตรการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือและรองรับลูกหนี้นอกระบบ
มีรายละเอียด คือ เป็นการช่วยเหลือและรองรับลูกหนี้นอกระบบที่ผ่านกระบวนการไกล่เกลี่ยหนี้ในโครงการแก้หนี้นอกระบบของรัฐบาล โดยธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 15,000 ล้านบาท (แห่งละ 7,500 ล้านบาท) วงเงินสินเชื่อต่อราย ไม่เกินรายละ 20,000 บาท
โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 1% ต่อเดือน (Flat Rate) ปลอดชำระหนี้เงินต้นสูงสุด 6 งวดแรก (ชำระดอกเบี้ยปกติ) หรือเป็นไปตามเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด ระยะเวลาชำระคืนเงินงวดสูงสุดไม่เกิน 3 ปี รัฐบาลชดเชยความเสียหายที่เกิดจาก NPLs 100% สำหรับ NPLs ไม่เกิน 30% ของวงเงินสินเชื่อที่อนุมัติทั้งหมด รวมวงเงินชดเชยไม่เกิน 4,500 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นธนาคารออมสิน 2,250 ล้านบาท และ ธ.ก.ส. 2,250 ล้านบาท
3. มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ตามโครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19
มีรายละเอียด คือ เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ NPLs ของโครงการฯ โดยให้ธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. ดำเนินการทวงถามให้ชำระหนี้ตามสมควรแก่กรณี โดยยังไม่ดำเนินการตัดหนี้สูญออกจากบัญชี และนำงบประมาณ ที่ได้รับชดเชยความเสียหายตามโครงการสินเชื่อฯ มาให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้เพื่อไม่ให้เป็น NPLs หรือหมดสิ้นภาระหนี้ที่เกิดจากโครงการสินเชื่อฯ ดังกล่าวต่อไป
“การแก้ไขหนี้ในระบบและหนี้นอกระบบ จะช่วยแบ่งเบาภาระหนี้ของลูกหนี้ในระบบ ช่วยเหลือให้ลูกหนี้ที่มีหนี้นอกระบบสามารถกลับเข้ามาในระบบได้ และป้องกันไม่ให้ลูกหนี้ที่มีหนี้ในระบบกลับไปเป็นหนี้นอกระบบได้อีก สามารถบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน ช่วยให้ประชาชนสามารถผ่อนชำระหนี้ได้สอดคล้องกับศักยภาพในการหารายได้ พร้อมทั้งผลักดันให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้อย่างเหมาะสมเป็นธรรม” นายคารม กล่าว