นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แจ้งว่า ด้วยในช่วงเทศกาลปีใหม่ของทุกปีเป็นช่วงที่มีวันหยุดติดต่อกันหลายวัน ประชาชนส่วนใหญ่เดินทางกลับภูมิลำเนาต่างจังหวัด เพื่อร่วมเฉลิมฉลองในเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ รวมทั้งประชาชนบางส่วนนิยมที่จะออกเดินทางไปท่องเที่ยวตามงานเทศกาล สถานบันเทิงและสถานบริการต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร บ้านเรือนที่อยู่อาศัยจึงถูกทิ้งไว้ไม่มีผู้ดูแล
ทำให้มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดเหตุสาธารณภัยหรืออุบัติภัยเพิ่มสูงขึ้นกว่าช่วงปกติ อาทิ ภัยจากการคมนาคม อาชญากรรม เหตุการณ์ความไม่สงบ การแพร่ระบาดของโรคติดต่อ
เนื่องจากมีประชาชนมาร่วมงานจำนวนมากทำให้สถานที่จัดงานมีความแออัด อีกทั้งงานเทศกาลและสถานบันเทิงบางแห่งมีการจัดงานเฉลิมฉลอง จุดพลุ หรือดอกไม้เพลิง
ประกอบกับเป็นช่วงฤดูหนาว สภาพอากาศแห้งและแล้ง จึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยได้ง่าย ซึ่งอาจทำให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการป้องกันและลดความเสี่ยงอันตรายที่อาจเกิดขึ้น จึงอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 มาตรา 32 และมาตรา 23 วรรคสอง (1) ขอความร่วมมือจากผู้จัดงานเทศกาลปีใหม่ สถานประกอบการสถานบันเทิง ประชาชน รวมถึงผู้ผลิต สะสม จำหน่ายผู้เล่นดอกไม้เพลิงและโคมลอยในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานคร ดังนี้
1.กรุงเทพมหานครเตรียมความพร้อมและกำหนดแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในช่วงเทศกาลปีใหม่ของกรุงเทพมหานคร ประจำปี พ.ศ. 2567 และจัดตั้งศูนย์ติดตามสถานการณ์กรุงเทพมหานคร (ศตส.กทม.) ในช่วงเทศกาลวันขึ้นปีใหม่ ประจำปี 2567 จากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อเฝ้าระวังความปลอดภัยให้กับชุมชนที่มีความเสี่ยงหรือพื้นที่ล่อแหลมสูง โดยเฉพาะจุดเสี่ยงอุบัติเหตุ จุดเสี่ยงอาชญากรรม
ตรวจสอบตรวจตราสถานประกอบการ สถานบันเทิงที่มีการจัดงานหรือกิจกรรม เพื่อวางแผนออกแบบมาตรการจัดกิจกรรมอย่างปลอดภัย กำหนดรูปแบบและลักษณะการใช้ประโยชน์พื้นที่เส้นทางหรือจุดเข้าออกพื้นที่จัดงานอย่างเข้มงวด และอำนวยความสะดวกด้านการจราจรตามสถานที่ต่าง ๆ
ตลอดระยะเวลาจัดงาน โดยประสานงานกับหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน พร้อมเฝ้าระวังดูแลในพื้นที่ที่มีคนหนาแน่นโดยใช้กล้อง CCTV รวมถึงการตรวจตราสถานประกอบการที่ผลิต สะสม และจำหน่ายดอกไม้เพลิง
สำหรับสถานที่ซึ่งได้รับอนุญาตให้จำหน่ายดอกไม้เพลิงต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องหลักเกณฑ์การควบคุมและการกำกับดูแลการผลิต การค้าการครอบครอง การขนส่งดอกไม้เพลิงและวัตฤดิบที่ใช้ในการผลิตดอกไม้เพลิง พ.ศ.2547 อย่างเคร่งครัด เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย และความปลอดภัยสูงสุดแก่ประชาชน
2.ขอความร่วมมือสถานประกอบการ สถานบันเทิง ผู้จัดงานและเจ้าของพื้นที่จัดงาน วางแผนการบริหารจัดการพื้นที่ และแผนงานรองรับความปลอดภัย
พร้อมตรวจสอบความปลอดภัยทางกายภาพ หากพบจุดเสี่ยงอันตรายหรืออุปกรณ์ที่ชำรุดเสียหายให้ดำเนินการแก้ไขให้มีความปลอดภัยหรือประสานผู้รับผิดชอบดำเนินการทันที อาทิ ระบบป้องกันอัคคีภัยให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน ประตูทางเข้า-ออก ถังดับเพลิง ระบบสัญญาณเตือนภัย ระบบไฟฟ้าสำรอง
ป้ายบอกเส้นทางหนีไฟต้องติดตั้งอยู่ในตำแหน่งที่มองเห็นได้ชัดเจนไม่มีสิ่งกีดขวางตลอดเส้นทาง และสามารถเปิดออกสู่ภายนอกได้อย่างทันที ตลอดจนกำหนดเส้นทางเข้า-ออกที่ชัดเจน จำกัดจำนวนคนภายในงานให้สอดคล้องกับขนาดและสภาพพื้นที่จัดงาน เพื่อป้องกันความหนาแน่นแออัด และสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้บริการทราบขั้นตอนการปฏิบัติเมื่อต้องอพยพผู้ใช้บริการกรณีเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน
กรณีเหตุเพลิงไหม้หรือเหตุสาธารถภัยอื่น ๆ ให้แจ้งสายด่วน โทร. 199 ได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง และให้ประสานงานกับสำนักงานเขตอย่างใกล้ชิด
3.แจ้งเตือนประชาชน กรณีวางแผนเดินทางออกต่างจังหวัดขอให้ตรวจสอบสายไฟ ปลั๊กไฟและอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ หากพบความชำรุดให้แก้ไขทันที ปิดสวิตซ์ ดึงปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกครั้งเมื่อไม่ใช้งานหรือก่อนออกจากเคหะสถาน
รวมถึงกำชับบุตรหลานไม่ให้เล่นไม้ขีดไฟหรือไฟแช็ก และควรเก็บวัสดุที่ติดไฟได้ง่ายให้อยู่ในที่ปลอดภัย พร้อมจัดหาอุปกรณ์ป้องกันอัคคีภัย ศึกษาวิธีการใช้งานอุปกรณ์ดังกล่าวเมื่อเกิดอัคคีภัย
ตลอดจนดูแลบำรุงรักษาให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอเพื่อความปลอดภัยและรณรงค์ให้ประชาชน ลด เลิกการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ภายใต้แนวคิด "เทศกาลสุขปลอดเหล้า" และ "ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ" เพื่อความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนทั้งผู้ขับขี่และผู้สัญจรร่วมทาง หากพบผู้บาดเจ็บหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน แจ้งศูนย์เอราวัณ 1669
4.ห้ามมิให้ผู้ใดจุดและปล่อย หรือกระทำการอย่างใด เพื่อให้บั้งไฟ พลุ ตะไล โคมลอย โคมไฟ โคมควัน หรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายคลึงกันขึ้นไปสู่อากาศ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากผู้อำนวยการเขตพื้นที่นั้น หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเป็นความผิดตามกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้ประสงค์จะขอจุดและปล่อยหรือกระทำการอย่างใด เพื่อให้บั้งไฟ พลุ ตะไล โคมลอย โคมไฟ โคมควัน หรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายคลึงกันขึ้นไปสู่อากาศ ให้ยื่นแบบคำขอรับใบอนุญาตพร้อมแผนการป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น พร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้องต่อผู้อำนวยการเขตพื้นที่ และห้ามมิให้ผู้ใดทำ สั่ง นำเข้า หรือค้าซึ่งดอกไม้เพลิง รวมถึง พลุ ประทัดไฟ ประทัดลม และวัตถุอื่นใด อันมีสภาพคล้ายคลึงกัน
เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ