ทส.-รัฐบาล ผลักดัน กฎหมายบริหารอากาศสะอาด เป็นขวัญประชาชน

27 ธ.ค. 2566 | 06:05 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ธ.ค. 2566 | 06:50 น.

 ทส.-รัฐบาล ผลักดัน กฎหมายบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด เครื่องมือบริหารจัดการเพื่อคุณภาพอากาศของคนไทยทุกคน สร้างความเชื่อมั่น ของขวัญประชาชน

 

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เดินหน้า ร่าง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)  บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. .... สร้างความเชื่อมั่น รัฐบาลผลักดันใช้เป็นเครื่องมือบริหารจัดการเพื่อคุณภาพอากาศของคนไทยทุกคน เป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน

 

 ร้อยเอก รชฏ พิสิษฐบรรณกร ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจาก พล ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาอธิบายความคืบหน้า พ.ร.บ. บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. ....

ก่อนที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เสนอ คณะรัฐมนตรี(ครม.) ซึ่ง พ.ร.บ. นี้เมื่อประกาศใช้แล้วจะเป็นเครื่องมือให้หน่วยงานภาครัฐแก้ไขปัญหาด้านมลพิษทางอากาศได้ดีขึ้น หน่วยงานต้องบูรณาการกันทั้งหมดและระดับพื้นที่มีเอกภาพในการบริหารจัดการ  สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เชื่อมั่นว่ากฎหมายจะออกมาใช้ในเร็วๆ นี้  รัฐบาลและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกันผลักดันอย่างเต็มที่ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน

 ร้อยเอก รชฏ พิสิษฐบรรณกร

 

ดร.บัณฑูร  เศรษฐศิโรตม์  ผอ.สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ทส. ร่วมกับ สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยกร่างพ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. … กฎหมายฉบับนี้ จะเป็นกฎหมายเฉพาะที่ลดสาเหตุการเกิดฝุ่นจากแหล่งกำเนิดตั้งแต่ต้นทาง การสร้างกลไกการบูรณาการทุกหน่วยงานในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ 

การให้อำนาจแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดในการประกาศเขตเฝ้าระวังมลพิษทางอากาศ และการประกาศเขตประสบมลพิษทางอากาศ และกฎหมายได้กำหนดให้มีเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์เพื่ออากาศสะอาด ได้แก่ ด้านภาษีอากรสำหรับอากาศสะอาด ค่าธรรมเนียมการจัดการมลพิษทางอากาศ มาตรการอุดหนุน สนับสนุน หรือส่งเสริมบุคคลหรือกิจกรรมสำหรับอากาศสะอาด เป็นต้น

ร่วมผลักดัน กฎหมายบริหารจัดการอากาศสะอาด

 

ที่สำคัญกฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดมาตรการควบคุมมลพิษข้ามแดน ซึ่งเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศนอกราชอาณาจักรไทยที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมหรือสุขภาพอนามัยของประชาชนในราชอาณาจักรไทย ให้ถือว่าเป็นผู้กระทำความผิดและต้องรับโทษตามพระราชบัญญัตินี้ในราชอาณาจักร อีกทั้งยังเป็นกฎหมายที่ให้อำนาจแก่กระทรวงพาณิชย์ในการกำหนดให้สินค้า ผลผลิตทางการเกษตร สินค้าแปรรูปหรือสินค้าอื่นใดที่ผลิตจากแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศภายนอกประเทศ ที่มีการผลิต

การเก็บเกี่ยว หรือการจัดการวัสดุของเสียทางการเกษตร ที่มีการเผาไหม้อันก่อให้เกิดมลพิษข้ามแดน ให้เป็นสินค้าห้ามนำเข้าส่งออกตามกฎหมายว่าด้วยการนำเข้า ส่งออกไปและการนำเข้ามาซึ่งสินค้าด้วย ซึ่งปัจจุบันร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และหากการพิจารณาแล้วเสร็จจะได้เสนอร่างกฎหมายดังกล่าวต่อสภาผู้แทนราษฎรโดยเร็วที่สุด

ทั้งนี้ จะบังคับใช้หลังประกาศราชกิจจานุเษกษา 60 วัน  ระหว่างการรอลงราชกิจจานุเษกษา ได้จัดเตรียมกฎหมายรองเพื่อรอประกาศใช้อีกกว่า 30 ฉบับ ดร.บัณฑูร  กล่าว