นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการกองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2567 ว่า ประเมินว่าจะขยายตัวเร่งขึ้นที่ 3.2% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 2.2-4.2%) โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน และภาคการส่งออก ประกอบกับภาคการท่องเที่ยวที่ยังฟื้นตัวต่อเนื่อง
โดยคาดว่าในปี 2567 จะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาในประเทศไทยจำนวน 34.5 ล้านคน ขยายตัว 24.6% ต่อปี ส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้อง เกิดการจ้างงานและเพิ่มรายได้ประชาชน โดยคาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 3.1% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.1 ถึง 4.1)
ขณะที่การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องตามอุปสงค์ในตลาดโลกและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า คาดว่าการส่งออกจะขยายตัวที่ 4.4% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 3.4-5.4%) ส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ ทำให้คาดว่าการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวที่ 3.5% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 2.5-4.5%)
อย่างไรก็ดี การประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 ในครั้งนี้ ยังไม่ได้รวมผลกระทบของมาตรการเศรษฐกิจที่อยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการโดยเฉพาะนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet
ทั้งนี้ มองว่าการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในปี 2567 ควรให้ความสำคัญกับ 7 เรื่องหลัก ได้แก่
1) การดำเนินนโยบายการเงินการคลังอย่างเหมาะสมสอดคล้องกับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ เช่น เพิ่มพื้นที่ในการดำเนินนโยบาย (Policy space) ให้มีความเพียงพอเพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในระยะต่อไป
2) การเตรียมมาตการเพื่อรองรับผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ เช่น เตรียมมาตรการรองรับผลกระทบจากความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางในปัจจุบันที่อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ ที่สำคัญ ทั้งด้านแรงงาน ความผันผวนของราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์และต้นทุนภาคเกษตร
3) การขับเคลื่อนภาคการส่งออกสินค้า เช่น เร่งรัดการส่งออกสินค้าไปยังตลาดที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวดีและการสร้างตลาดใหม่ ใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค
4) การสร้างความเชื่อมั่นและสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน เช่น ส่งเสริมการลงทุนเชิงรุกผ่านยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (2566 – 2570) ส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รวมทั้งการขับเคลื่อนพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษในแต่ละภูมิภาค
5) การสนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่อง เช่น จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวและสร้างการรับรู้ต่อมาตรการ Long – term resident visa (LTR) เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ
6) การดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร เช่น ป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้ง เพิ่มส่วนแบ่งให้เกษตรกรมีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตขั้นสุดท้าย
7) การรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ เช่น เร่งรัดเบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายเหลื่อมปี และงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ ในช่วงที่พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ยังไม่มีผลบังคับใช้ และติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐ