เปิดใจดีลเลอร์รถยนต์รายใหญ่ ควักเงินพันล้านบาท ลุยตลาด EV

31 ธ.ค. 2566 | 09:51 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ม.ค. 2567 | 05:23 น.

เปิดใจดีลเลอร์รถยนต์รายใหญ่ หลังรถ EV จีนตั้งฐานผลิตในไทย เตรียมเงินลงทุนหลักพันล้านเปิดโชว์รูมแบรนด์จีนเพิ่ม วอนภาครัฐออกมาตรการช่วยดีลเลอร์ให้อยู่รอด

นายเจตน์กวิน โพธิ์ใบกุล กรรมการผู้จัดการ บ.ออโต้ แกลเลอรี่ ซีคอน จำกัด ‘ดีลเลอร์รถยนต์รายใหญ่’ มีโชว์รูมในเครือรวมทุกแบรนด์กว่า 30 แห่ง เปิดใจกับฐานเศรษฐกิจว่า ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ดีลเลอร์ผลกระทบจากโควิด19 ยอดขายหายไป 80-90%

ส่วนยอดบริการหลังการขายหายไปกว่า 50% มีการปรับตัวบริการลูกค้าแบบเดลิเวอรี่ โดยสัญญาณตลาดรถยนต์เริ่มปรับตัวดีขึ้นในช่วงกลางปี 2565 จนถึงต้นปี 2566 จนกระทั่งมีผลกระทบจากสงคราม ประกอบกับความเข้มงวดในการปรับเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อของสถาบันทำให้ยอดช่วงกลางปีอาจจะสะดุดเล็กน้อย แต่ภาพรวมของตลาดรถยนต์ยังคงทรงตัว

สำหรับการเข้ามาของรถ EV หลากหลายแบรนด์จากจีน ส่งผลกระทบกับรถยนต์สันดาปค่อนข้างมาก ลูกค้าเกือบ 100% ที่จะซื้อรถยนต์ใหม่ จะมีการเปรียบเทียบกับรถ EV ประกอบกับราคาน้ำมันในตลาดที่ปรับตัวพุ่งสูงขึ้น ทำให้ลูกค้าจำนวนหนึ่งไม่ลังเลที่จะหันไปซื้อรถยนต์ EV แทน

ทั้งนี้เป้าหมายของการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศปี 2566 เดิมทีสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ตั้งเป้าไว้ที่ 9 แสนคัน แต่มีการปรับลดเป้าหมายลงถึง 2 ครั้ง หลังสัญญาณการซื้อรถยนต์หายไป ทำให้ตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์ในภาพรวมน่าจะอยู่ที่ราว 8 แสนคัน หายไป 1 แสนคัน

“สัญญาณเหล่านี้ชัดเจนว่า คนส่วนมากรอดูว่าช่วงปลายปีจะมีรถยนต์ EV รุ่นไหน หรือ รุ่นใหม่ ๆ เข้ามาบ้าง ส่งผลกระทบกับดีลเลอร์ทางตรง”

สำหรับยอดขายของโชว์รูมในเครือ ’ออโต้ แกลเลอรี่ ซีคอน‘ ที่เป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์อยู่ทั้งหมด 4 แบรนด์ รวม 30 โชว์รูมนั้น คาดว่าจะใกล้เคียงกับปีที่แล้ว หรืออาจจะเติบโตได้ราว 5-10% เท่านั้น แต่ในปี 2567 ไม่มั่นใจว่ายอดขายจะเป็นอย่างไร แต่ยังเชื่อว่าจะใกล้เคียงกับปีนี้

ปรับตัวเพื่อสู้ตลาด EV

ในการปรับตัวของตลาดรถยนต์นั้น ส่วนตัวมองว่า จะต้องเริ่มจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ก่อน อาจจะต้องออกสินค้าใหม่ ๆ หรือ เปิดตัวรถยนต์ EV ออกมาแข่งขันในตลาดให้มากขึ้น แต่ในส่วนของดีลเลอร์นั้น ต้องปรับเปลี่ยนการทำตลาด เน้นบริการหลังการขายให้มากขึ้น ดูแลลูกค้าเก่าให้ดีขึ้น 

ขณะเดียวกัน ดีลเลอร์ เอง ก็ยังมองถึงการลงทุนในแบรนด์รถยนต์ EV ซึ่งปัจจุบันได้เริ่มมองถึงมูลค่า ความคุ้มค่าและทำเลในการลงทุนแล้ว โดยการทำโชว์รูมแต่ละแห่งนั้น มีมูลค่าสูงตั้งแต่ 50-100 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับขนาดของโชว์รูม โดยยังไม่รวมต้นทุนเรื่องของที่ดิน

สำหรับเงื่อนไขการลงทุนในแต่ละแบรนด์จะมีเงื่อนไขแตกต่างกัน บางแบรนด์ ไม่ต้องการจำนวนดีลเลอร์จำนวนมาก เช่น ดีลเลอร์ 1 ราย ต้องเปิดโชว์รูมขั้นต่ำ 5 แห่ง หรือบางแบรนด์อาจจะกำหนดไว้ 10 แห่ง ทำให้การลงทุนแต่ละแบรนด์อาจจะต้องใช้เงินทุนตั้งแต่ 400-1,000 ล้านบาท

“เราสนใจลงทุนนะ มีการประชุมหารือกันมาตั้งแต่ปีที่แล้ว อยู่ในขั้นตอนการพิจารณา แต่เม็ดเงินลงทุนไม่ใช่จำนวนน้อย จึงต้องพิจารณาให้รอบคอบ”

 

วอนรัฐออกมาตรการช่วยเพื่อปรับตัว

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การที่รถยนต์ EV ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐนั้น เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ตลาดรถ EV คึกคัก แต่ในทางกลับกัน ก็อยากให้ภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือตลาดรถยนต์ดั้งเดิมในประเทศด้วยเช่นกัน 

ทั้งนี้ อาจจะเป็นการออกมาตรการคล้ายกับในอดีต เช่น ’โครงการรถคันแรก‘ ให้ครอบคลุมรถทุกประเภท ทำให้ราครถยนต์สันดาปลดลงมาใกล้เคียงรถยนต์ EV เพื่อแข่งขันกันในด้านของราคาได้ เพื่อให้ผู้ประกอบการรถสันดาปอยู่รอด

สำหรับปี 2567 เป็นปีที่คาดเดาได้ยาก ต้องเร่งทำการตลาดเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก เชื่อว่าดีลเลอร์แต่ละรายน่าจะมีความต้องการให้เศรษฐกิจไทบเติบโต เพื่อให้ตลาดรถยนต์เติบโตในภาพรวมเช่นกัน