ภาคการเกษตรไทย ใกล้หมดแรง ต้นทุนสูงสวนทางรายได้

02 ม.ค. 2567 | 04:02 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ม.ค. 2567 | 04:08 น.

สนค. กระทรวงพาณิชย์ ศึกษาภาคการเกษตร สร้างรายได้สัดส่วนเพียง 8.8% ของ GDP แต่พื้นที่เกษตร 46.6% ของประเทศ ขณะที่ต้นทุนสูงขึ้นจากการนำเข้าปุ๋ยเคมี สวนทางรายได้เกษตรกร โต 3% แต่รายจ่ายโต 6% แรงงานเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ติดตามและศึกษาสถานการณ์เศรษฐกิจครัวเรือนภาคเกษตร เพื่อยกระดับและเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร ทั้งนี้ พบว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2563 – 2565) รายได้ครัวเรือนเกษตรของไทยเติบโตอย่างอ่อนแรง เนื่องจากภาวะหนี้สินของเกษตรกรสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดย สนค. ได้ศึกษาสถานการณ์การผลิตและการค้าสินค้าเกษตรไทย พบว่า ในปี 2565 ไทยมีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) 17,370,240 ล้านบาท เป็น GDP จากภาคเกษตร 1,531,120 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนเพียง 8.81% ของ GDP แต่ไทยใช้พื้นที่ทำการเกษตร 149.75 ล้านไร่ คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 46.69% ของพื้นที่ทั้งประเทศ และมีแรงงานภาคเกษตร 11.63 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 29.31% ของแรงงานทั้งหมด ขณะที่เกษตรกรไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย โดยมีอายุเฉลี่ยที่ 58.46 ปี

ปัจจุบันพื้นที่ทำการเกษตรของไทย ใช้ทำนาข้าวมากที่สุด 65.41 ล้านไร่ คิดเป็นสัดส่วน 43.68% ของพื้นที่ทำการเกษตรทั้งประเทศ รองลงมา คือ สวนผลไม้และไม้ยืนต้น (39.38 ล้านไร่) พืชไร่ (30.89 ล้านไร่) สวนผัก ไม้ดอก และไม้ประดับ (1.1 ล้านไร่) และใช้ประโยชน์อื่น ๆ (12.96 ล้านไร่) 

สำหรับด้านต้นทุนปัจจัยการผลิตในภาคเกษตร มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2565 มีมูลค่าการนำเข้า 128,625 ล้านบาท โดยเป็นการนำเข้าปุ๋ยเคมีถึง 103,205 ล้านบาท (80.24% ของมูลค่าการนำเข้าปัจจัยการผลิตในภาคเกษตรทั้งหมด) และมูลค่านำเข้าปุ๋ยเคมีในช่วง 3 ปี (ปี 2563 – 2565) เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 49.23% ต่อปี 

ทั้งนี้ เมื่อเจาะลึกสถานการณ์เศรษฐกิจครัวเรือนเกษตร พบว่าในช่วง 3 ปี รายได้ที่ครัวเรือนได้รับจากกิจกรรมทางการเกษตร ขยายตัวเล็กน้อย 3.81% ต่อปี เมื่อเทียบกับรายจ่ายที่ขยายตัวสูงกว่า 6.30% ต่อปี เช่นเดียวกับภาวะหนี้สินที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง 1.45% ต่อปี 

ส่วนเงินสดคงเหลือก่อนการชำระหนี้ (รายได้หักรายจ่าย) และทรัพย์สินหดตัวลง ( 0.25% และ 8.19% ต่อปี ตามลำดับ) เปรียบเทียบปี 2565 กับปี 2564 พบว่ารายได้ที่ครัวเรือนได้รับจากกิจกรรมทางการเกษตร ขยายตัว 10.28% และภาวะหนี้สินของเกษตรกรก็ขยายตัวเช่นกันที่ 3.49% ซึ่งเป็นการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและสูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 3 ปี ขณะที่เงินสดคงเหลือก่อนการชำระหนี้และทรัพย์สินของเกษตรกรยังคงหดตัว 2.52% และ 36.11% ตามลำดับ และหดตัวสูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 3 ปี 

สถานการณ์การค้าสินค้าเกษตรภายในประเทศ ในช่วง 11 เดือนแรก (มกราคม – พฤศจิกายน) ของปี 2566 พบว่า สินค้าที่ราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน สับปะรดโรงงาน ลำไย เงาะโรงเรียน กระเทียม หอมหัวใหญ่ ไก่เนื้อ ไข่ไก่ และปลาดุก เนื่องจากความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้น และต้นทุนการผลิตสูงขึ้น

ขณะที่ สินค้าที่ราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ทุเรียนหมอนทอง มังคุด สุกร กุ้งขาวแวนนาไม และปลานิล เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมาก และประสบปัญหาการลักลอบนำเข้าสุกรผิดกฎหมาย 

ภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทย ปี 2565 ไทยส่งออกสินค้าเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมการเกษตร มีมูลค่ารวม 49,532.32 ล้านเหรียญสหรัฐ (1,715,153.55 ล้านบาท) คิดเป็นสัดส่วน 17.23% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย โดยเป็นการส่งออกสินค้าเกษตรกรรม 26,739.15 ล้านเหรีญสหรัฐ (925,993.61 ล้านบาท) และสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร 22,793.17 ล้านเหรีญสหรัฐ (789,159.94 ล้านบาท) คิดเป็นสัดส่วน 53.98% และ 46.02% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมการเกษตร ตามลำดับ

สำหรับในช่วง 11 เดือนแรก (มกราคม – พฤศจิกายน) ของปี 2566 ไทยส่งออกสินค้าเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมการเกษตรเป็นมูลค่า 45,717.37 ล้านเหรียญสหรัฐ (1,573,144.56 ล้านบาท) หดตัว 0.47% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า สินค้าเกษตรกรรมที่ส่งออกเป็นมูลค่าสูงสุด ได้แก่ ผลไม้ (228,176.93 ล้านบาท) ข้าว (159,550.25 ล้านบาท) และผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลัง (120,902.23 ล้านบาท) 

สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรที่ส่งออกสูงสุด ได้แก่ น้ำตาลทราย (113,798.00 ล้านบาท) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (110,089.79 ล้านบาท) และอาหารสัตว์เลี้ยง (77,181.00 ล้านบาท) สำหรับการนำเข้าสินค้าเกษตรของไทย สินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้าสูงสุด ได้แก่ ถั่วเหลือง (66,623.86 ล้านบาท) กากน้ำมัน (ออยล์เค๊ก) (59,672.18 ล้านบาท) และข้าวสาลีและข้าวเมสลิน (42,754.25 ล้านบาท) 

 

จากที่กล่าวมาข้างต้น สะท้อนถึงปัญหา อุปสรรค และความท้าทายในภาคเกษตรไทย ในประเด็นหลัก ๆ ได้แก่ 

  • ภาคเกษตรไทยมีผลิตภาพต่ำ 
  • แรงงานภาคเกษตรมีแนวโน้มลดลงและอายุเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 
  • ปัญหาการบริหารจัดการน้ำเรื้อรัง 
  • ต้นทุนการผลิตสูง ต้องพึ่งพาการนำเข้าปัจจัยการผลิต
  • เกษตรกรมีข้อจำกัดในการปรับเปลี่ยนสินค้า 
  • ปัญหาขาดความรู้ด้านการแปรรูปและการเก็บรักษาสินค้าเกษตร
  • ปัญหาด้านการค้าและการตลาด 
  • ตลอดจนปัญหามาตรการและอุปสรรคทางการค้าของประเทศคู่ค้า 

 

สำหรับแนวทางการยกระดับและเพิ่มรายได้เกษตรกร มีข้อเสนอ 16 แนวทาง ประกอบด้วยแนวทาง “7 สร้าง 3 กระตุ้น 6 พัฒนา” ดังนี้

“7 สร้าง” ได้แก่ 

  1. สร้างโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตรให้มีความหลากหลาย และเป็นที่ต้องการของตลาด 
  2. สร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มผลิตภาพและลดต้นทุนการผลิต
  3. สร้างโครงสร้างพื้นฐานการจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ 
  4. สร้างปัจจัยการผลิตภายในประเทศเพื่อลดการนำเข้า เช่น ปุ๋ยอินทรีย์ 
  5. สร้างความเข้มแข็งแก่สหกรณ์การเกษตร เป็นตัวแทนรวบรวมผลผลิตของสมาชิกจำหน่ายผ่านช่องทางต่าง ๆ และสหกรณ์ฯ สามารถของบประมาณภาครัฐซื้อเครื่องจักร/เทคโนโลยีการเกษตรเพื่อใช้ในกลุ่ม 
  6. สร้างหลักประกันความมั่นคงทางรายได้ เช่น ส่งเสริมการประกันภัยพืชผลทางการเกษตรและระบบเกษตรพันธสัญญาที่เป็นธรรม
  7. สร้างการเชื่อมโยงการผลิตสินค้าเกษตรสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต

 

“3 กระตุ้น” ได้แก่ 

  1. กระตุ้นงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนาด้านการเกษตร ทั้งด้านพันธุ์พืชและวิธีการผลิต
  2. กระตุ้นการลงทุนในภาคการเกษตร
  3. กระตุ้นการท่องเที่ยวเชิงเกษตร

 

“6 พัฒนา” ได้แก่ 

  1. พัฒนาศักยภาพเกษตรกรและชุมชนเกษตรกร อาทิ การทำเกษตรอัจฉริยะและเกษตรคาร์บอนต่ำ 
  2. พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการภาคการเกษตร เตรียมความพร้อมผู้ประกอบการ ผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร สู่การค้าออนไลน์ และกฎระเบียบทางการค้าสินค้า 
  3. พัฒนาการตลาดและประชาสัมพันธ์ อาทิ ตลาดชุมชน ตลาดออนไลน์ และอินฟลูเอนเซอร์สินค้าเกษตร 
  4. พัฒนาคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตรและการแปรรูป 
  5. พัฒนาฐานข้อมูลด้านเกษตร ที่เชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างครบวงจร เพื่อใช้ในการวางแผนการผลิตและการตลาด
  6. พัฒนาระบบขนส่ง โลจิสติกส์ และคลังสินค้าเกษตร 

จากการศึกษาของ สนค. เห็นว่ารายได้ภาคการเกษตรที่เติบโตแบบอ่อนแรงนี้ มีส่วนทำให้ครัวเรือนเกษตรมีภาระหนี้สินสูงขึ้น ดังนั้น ภาคเกษตรของไทยต้องปรับตัวครั้งใหญ่ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายจากปัจจัยภายในและภายนอกหลายด้าน โดยเฉพาะการปรับตัวของเกษตรกรต้นน้ำ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยให้ภาคเกษตรไทยสามารถเติบโตและเปลี่ยนแปลงไปสู่เศรษฐกิจการค้ารูปแบบใหม่ได้อย่างยั่งยืน