แจกเงินดิจิทัล “คลัง” ยันไทม์ไลน์เดิม เริ่มพ.ค.67

16 ม.ค. 2567 | 06:42 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ม.ค. 2567 | 07:38 น.

รมช.คลังแจงเหตุเลื่อนประชุมแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต ชี้รอข้อเสนอแนะจากป.ป.ช. ยันไม่ลดกรอบวงเงินแจกประชาชน พร้อมเดินหน้าตามไทม์ไลน์เดิม เริ่มพ.ค.67

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้มีการเลื่อนประชุมคณะกรรมการนโยบายเติมเงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาทออกไปก่อน เนื่องจากคณะกรรมการรับทราบว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่งหนังสือข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต มายังรัฐบาล

ดังนั้น คณะกรรมการจึงลงความเห็นว่าให้เลื่อนออกไปก่อน เพื่อรอเอกสารความเห็นให้ครบทุกทางก่อน โดยที่ยังไม่มีการกำหนดนัดประชุมใหม่ 

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่ากากระทรวงการคลัง

ขณะที่กระแสข่าวเรื่องว่า รัฐบาลจะปรับลดวงเงินโครงการดิจิทัล วอลเล็ตลง จาก 5 แสนล้านบาทนั้น ยืนยันว่า ยังไม่มีการพูดคุยเรื่องดังกล่าว และยังคงที่กรอบวงเงิน 5 แสนล้านบาทเช่นเดิม

ส่วนกระแสเรื่องที่ว่ารัฐบาลจะเลื่อนโครงการออกไปเพื่อรอใช้ งบประมาณปี 2568 นั้น ก็ไม่มีการกล่าวถึงเช่นกัน และรัฐบาลยังยืนยันเดินหน้าเรื่องการ ออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อเดินหน้าโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ซึ่งจะพยายามให้เป็นไปตามกรอบเดิมที่กำหนดให้เริ่มใช้จ่ายได้ในเดือนพ.ค.67

“ยอมรับว่าการออกพ.ร.บ.กู้เงินนั้น มีความเสี่ยง และรัฐบาลเองก็มีทางเลือกอื่น ไม่ว่าจะเป็นการออกพระราชกำหนด หรือการรองบประมาณก็อยู่ในอำนาจที่ทำได้ แต่ขณะนี้คณะกรรมการยังไม่มีการพูดคุยกันเรื่องนี้ ดังนั้นจึงยังคงเดินหน้า พ.ร.บ.กู้เงินต่อไป ยอมรับว่าตอนนี้การทำโครงการดิจิทัลเริ่มตึง เริ่มเข้าใกล้เดือนพ.ค.เข้าไปทุกที แต่ยืนยันจะทำให้ทันตามไทม์ไลน์เดิม”

นายจุลพันธ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังได้ยกร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้าบาทเบื้องต้นแล้ว ส่วนเรื่องขั้นตอนที่ต้องเข้าสภานั้น ได้แก่ การพิจารณาหลักการ ตั้งคณะกรรมาธิการศึกษา และรับร่าง พ.ร.บ. รวมไปถึง การส่งไปถึงขั้นวุฒิสภา ไม่ได้เป็นขั้นตอนที่น่ากังวล  ถ้าร่างเสร็จทันก็สามารถเข้าสู่ที่ประชุมสภาที่กำลังเปิดสมัยประชุมอยู่ได้ทันที หรือหากไม่ทันก็สามารถขอให้เปิดประชุมสมัยวิสามัญได้

ส่วนเรื่องวิกฤต หรือไม่วิกฤตนั้น ยอมรับว่าเป็นเรื่องสำคัญ ที่มีหลากหลายมุมมอง ทุกฝ่ายสามารถมองแตกต่างกันได้  ทั้งนี้ รัฐบาลเองก็ต้องทำหน้าที่ชี้แจ้งให้เห็นถึงความจำเป็นที่ต้อง ออกพ.ร.บ.กู้เงินเพื่อโครงการดิจิทัล โดยมีสามเรื่องสำคัญ ได้แก่ เรื่องเงินเฟ้อ การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทย และโครงสร้างของเศรษฐกิจ