งบประมาณ 2568 มีความคืบหน้าการจัดทำควบคู่ไปกับงบประมาณปี 2567 แล้ว หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 16 มกราคม 2567 มีมติเห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 3,600,000 ล้านบาท พร้อมทั้งเห้นชอบการปรับปรุงปฏิทินงบประมาณปี 2568 ใหม่อีกครั้ง โดยตั้งเป้าหมายให้สามารถเริ่มต้นการใช้จ่ายได้ตามกำหนด คือ วันที่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป
นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตาม พ.ร.บ. วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 มาตรา 24 กำหนดให้ในการจัดทำงบฯ ประจำปี ให้สำนักงบประมาณ (สงป.) กำหนดนโยบายงบประมาณ ประจำปี ประมาณการรายได้ วงเงินงบประมาณ และวิธีการเพื่อชดเชยการขาดงบดุลฯ และเสนอต่อ ครม. เพื่อพิจารณาเห็นชอบ
ประกอบกับตามปฏิทินงบประมาณปี 2568 กำหนดให้ ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบนโยบาย วงเงินงบประมาณและโครงสร้างงบประมาณ โดยงบประมาณปี 2568 คาดว่า รัฐบาลจะจัดเก็บรายได้รวม 3,454,400 ล้านบาท เมื่อหักการคืนภาษีของกรมสรรพากร และอื่นๆ คงเหลือรายได้สุทธิ 2,887,000 ล้านบาท
สำหรับวงเงินงบประมาณปี 2568 จำนวน 3,600,000 ล้านบาท เท่ากับกรอบวงเงินตามแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568-2571) ที่ ครม. เห็นชอบเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2566 สำหรับ งบลงทุน และงบชำระคืนต้นเงินกู้ มีสัดส่วนอยู่ภายในกรอบที่กำหนดตาม พ.ร.บ การเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 โดยมีสาระสำคัญดังนี้
1.โครงสร้างงบประมาณ ประกอบด้วยประมาณการรายจ่าย ดังต่อไปนี้
2. รายได้สุทธิ 2,887,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2567 จำนวน 100,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3.59%
3. งบประมาณขาดดุล 713,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2567 จำนวน 20,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2.89% และคิดเป็นสัดส่วน 3.56% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ซึ่งนับว่าลดลงจากปีงบประมาณ 2567 ซึ่งก่อนหน้านี้มีสัดส่วนที่ 3.64%
นอกจากนี้ ครม. ยังมีมติเห็นชอบการปรับปรุงปฏิทินงบฯ ปี 68 เนื่องจาก ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2567 ที่ขอให้ทุกหน่วยงานให้ความสำคัญกับการนำนโยบายของรัฐบาล มากำหนดเป็นจุดเน้นที่ต้องดำเนินการในปีงบประมาณ 68 และใช้เป็นกรอบแนวทางในการจัดทำแผนงาน/โครงการรองรับต่อไป
โดยมีการกำหนดสัดส่วนการจัดสรรงบประมาณที่สะท้อนถึงนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ชัดเจน มีการกำหนดตัวชี้วัดในการดำเนินแผนงาน/โครงการที่ชัดเจน สามารถวัดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม และกรณีจะเพิ่มหรือลดงบประมาณในรายการใด ต้องสามารถอธิบายเหตุผล และความจำเป็นได้อย่างชัดเจน
รวมทั้งยังให้จังหวัด และกลุ่มจังหวัดสามารถจัดทำข้อเสนอโครงการที่จะตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ให้สอดคล้องกับข้อเสนอของการกระจายอำนาจ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานเชิงพื้นที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆ ซึ่งด้วยหลักการและเหตุผลทั้งหมดนั้น จึงได้มีการเสนอปรับปรุงปฏิทินงบประมาณ ปี 2568
สำหรับกรอบเวลาการจัดทำงบประมาณ ปี 2568 กำหนดปฏิทินงบประมาณ ไว้ตามเวลาดังนี้